วิเคราะห์คำตัดสิน"ศาลรธน." คดีแก้รธน. 3 แนวทาง

การเมือง
20 พ.ย. 56
03:48
72
Logo Thai PBS
 วิเคราะห์คำตัดสิน"ศาลรธน." คดีแก้รธน. 3 แนวทาง

วันนี้ (20 พ.ย.) จะเป็นวันที่ทราบชะตากรรมของ 312 สมาชิกรัฐสภา ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว.ว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งก่อนจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาในวันนี้ จะเห็นได้ว่า มีหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านถอนตัวจากการพิจารณาคดี โดยเชื่อมโยงถึงความชอบธรรมและความเหมาะสม ขึ้นมากดดันให้ 9 ตุลาการถูกตั้งคำถามจากสังคม

อดีตส.ส.ร. ปี 2540 นำโดย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ร่างมาตรา 63 และปัจจุบัน คือ มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของมาตรานี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมกับชี้ว่าตุลาการ 3 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ มีส่วนได้ส่วนเสียเพราะเป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2550 จึงควรถอนตัวจากการวินิจฉัย และเห็นว่านายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นตุลาการใหม่ ที่ไม่ควรร่วมวินิจฉัยในครั้งนี้

<"">

 

และด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.ก็ยื่นหนังสือขอให้ นายจรัญ และนายนุรักษ์ เป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2550 แต่เพิ่มข้อสังเกตว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา คุณสมบัติไม่เหมาะสม ที่จะทำหน้าที่ได้แล้ว จึงควรถอนตัวเช่นกัน

ถ้าเทียบความเคลื่อนไหวชี้คุณสมบัติตุลาการทั้ง 5 คน ควรถอนตัวจากการวินิจฉัยกับวิธีพิจารณาความ อาจสะท้อนถึงแรงกดดัน ที่จะส่งตรงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับที่มาของการคาดการณ์ ที่จะกำหนดแนวทางวินิจฉัยหรืออาจคาดหวังที่จะยุติการวินิจฉัยไว้ก่อน เพราะหลักปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 บอกไว้ว่าตุลาการที่จะนั่งพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องต้องไม่น้อยกว่า 5 คนและการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก

<"">
<"">

สำหรับการคาดการณ์ถึงผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นไปได้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก การวินิจฉัยว่าเรื่องดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางเป็นบวกที่สุดกับรัฐบาล แนวทางที่สอง การวินิจฉัยที่อาจนำไปสู่โทษความผิดที่จะตกอยู่กับส.ส.และส.ว.ทั้ง 312 คน ที่ร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว.นี้ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.และ ส.ว.

แนวทางที่สาม การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คือเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยในข้อนี้อาจส่งผลให้นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหวังว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหม่ได้

ทั้งนี้ตามขั้นตอนช่วงเช้า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะประชุมพิจารณาและอ่านคำวินิจฉัยส่วนตน ก่อนลงมติวินิจฉัยคำร้อง และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกลางต่อหน้าฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง และคงจะเป็นที่ทราบทั่วไปว่าคำวินิจฉัยจะชี้ขาดเพียงแค่คำร้องนั้น หรือมีผลพวงไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ด้วยหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง