ย้อนรอย "คำร้อง" ยื่นศาลรธน.วินิจฉัยแก้รธน. "ที่มาส.ว." ก่อนมีการตัดสินวันนี้

20 พ.ย. 56
05:31
67
Logo Thai PBS
ย้อนรอย "คำร้อง" ยื่นศาลรธน.วินิจฉัยแก้รธน. "ที่มาส.ว." ก่อนมีการตัดสินวันนี้

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดฟังคำวินิจฉัยวันนี้ (20 พ.ย.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังค์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เรียกผู้ร้อง และพยาน รวม 10 เข้าไต่สวนข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกับแถลงปิดคดีไปแล้ว ถ้าจะดูที่มาของคำร้องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้ถึง 4 คำร้อง และพิจารณายุบรวมเป็นคำร้องเดียว เพื่อวินิจฉัยในครวเดียวกัน

4 คำร้อง ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องเดียวกัน คือ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ว่าด้วยที่มาของส.ว. ว่าเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 68 กรณีล้มล้างการปกครองและการได้มาซึ่งการปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ใน 4 คำร้องก่อนหน้านี้ ต่างก็มีกระบวนการพิจารณา เข้ามาเกี่ยวข้องในคำร้องแบบต่างกรรมต่างวาระกัน

 
  
โดยก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก รับคำร้องที่นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง และคณะ หรือส.ว.ใน กลุ่ม 40 และคำร้องที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการเร่งรีบ, รวบรัด ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีการเสียบบัตรแทนกันของสมาชิกรัฐสภาเกิดขึ้น จึงอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ "ไว้พิจารณาวินิจฉัย" เนื่องจากเห็นว่า มีมูลกรณีเป็นการกระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
  
 
ส่วนอีก 2 คำร้อง คือ คำร้องของ กรณีคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยมาตรา 68 ว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภา กับพวกรวม 310 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยมาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภา กับสมาชิกรัฐสภา รวม 312 คน ด้วยข้อกล่าวหาร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และถือเป็นการกระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง