เปิดความเห็น 2 ฝ่าย เห็นต่างแก้ไขที่มาส.ว. "ขัด-ไม่ขัด" รัฐธรรมนูญ

20 พ.ย. 56
05:49
67
Logo Thai PBS
เปิดความเห็น 2 ฝ่าย เห็นต่างแก้ไขที่มาส.ว. "ขัด-ไม่ขัด" รัฐธรรมนูญ

การอ่านคำวินิจฉัยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว. วันนี้(20 พ.ย.) ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาล, ฝ่ายค้าน และมวลชนที่เคลื่อนไหวต่างก็จับจ้องติดตามกัน ซึ่งแกนนำของกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากคำวินิจฉัยของศาลเป็นหนึ่งในคำตอบของการต่อสู้ทางการเมืองนอกสภา นั่นคือ ประเด็นขับไล่รัฐบาล สุดท้ายแล้ว ก็พร้อมจะยุติการชุมนุม

เช่นเดียวกันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้กลุ่มนปช. ประกาศไว้แล้วว่า คำวินิจฉัย คือ เงื่อนไขสำคัญที่จะกำหนดแนวทางการชุมนุมของกลุ่ม ซึ่งวันนี้ชุมนุมอยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน และหลังศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็จะนำมาประเมิน ก่อนกำหนดท่าทีว่าจะยุติ หรือ ยกระดับ พร้อมย้ำว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยคำร้องเรื่องนี้อย่างเป็นธรรม

 
สอดคล้องกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, พรรคร่วมรัฐบาล หรือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่างเตรียมพร้อมติดตามการอ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ส่วนหนึ่ง ที่ตกเป็นผู้ถูกร้องในคำวินิจฉัย ออกมาระบุว่า จะไม่ยอมรับอำนาจศาลในการวินิจฉัยคำร้องเรื่องนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจโดยชอบในการแก้รัฐธรรมนูญ

    

 
ขณะที่ฝ่ายค้าน เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาที่เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น มีกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และด้วยเงื่อนไขนี้ จึงเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง และการได้มาซึ่งการปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
 
ทั้งนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์นี้ จะเห็นท่าทีของแต่ละฝ่าย และต่างฝ่ายต่างก็ชี้กันว่า มีพฤติการณ์ที่กดดันศาล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ 2 ฝ่าย 2 ขั้วทางการเมืองที่คาดหวัง และมีพฤติกรรมเข้าข่ายกดดันศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีบริบทล้อมด้าน เช่น อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 นำโดยนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ร่างมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และนำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 68 ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ

    

 
พร้อมกับชี้ว่า ตุลาการ 3 คนได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล,นายอนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2550 จึงควรถอนตัวจากการวินิจฉัย และเห็นว่า นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นตุลาการใหม่ ไม่ควรร่วมวินิจฉัยในครั้งนี้
 
นอกจากการชุมนุมกันแล้ว กลุ่มนปช. โดยกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ก็เคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือขอให้ นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถอนตัวออกจากการวินิจฉัย เพราะเคยมีสถานะเป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2550 ส่วนนายบุญส่ง กุลบุปผา มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ต่อไป

    

 
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น กับวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ อาจสะท้อนภาพถึงแรงกดดันที่ส่งตรงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังกลายเป็นแรงบีบคั้นให้ตุลาการ รวม 5 คน จากทั้งหมด 9 คน ควรถอนตัวจากการวินิจฉัย และนี่อาจเป็นที่มาของความคาดหวังที่จะยุติการวินิจฉัยคำร้องเรื่องนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ชี้ชัดว่า องค์คณะตุลาการที่จะนั่งพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องต้องไม่น้อยกว่า 5 คน และการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง