เปิดมุมมอง "นักเศรษฐศาสตร์" กับข้อห่วงใยการลงทุน 2 ล้านล้าน

เศรษฐกิจ
21 พ.ย. 56
01:20
194
Logo Thai PBS
เปิดมุมมอง "นักเศรษฐศาสตร์" กับข้อห่วงใยการลงทุน 2 ล้านล้าน

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เผยไม่ได้คัดค้านการลงทุนของภาครัฐ แต่ห่วงร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท กรณี ความชัดเจนของการลงทุน การศึกษาข้อดีข้อเสียโครงการ และกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใส

นายประชา คุณธรรมดี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ใช้เม็ดเงินเกินกว่าครึ่ง แต่ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์โครงการอย่างละเอียด ซึ่งหากดำเนินโครงการไปแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประเทศ นอกจากนี้ รายละเอียดการจัดสรรงบประมาณก็ยังไม่ชัดเจน และยังเอื้อต่อการปรับวงเงินการลงทุนได้ เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเป็นการให้เช็คเปล่า แต่ไม่มีรายละเอียดมากพอ

  
จากการศึกษาผลของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง พบว่า ประโยชน์จะตกเฉพาะจังหวัดที่มีสถานี และรถไฟความเร็วสูง มีความเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าน้อย ซึ่งจะไม่ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทย ทั้งนี้ ประเมินว่า อาจมีการขาดทุนสะสมกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินที่นำไปชดเชย ก็คือ "เงินภาษี" ของประชาชน ซึ่งบางคนอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบการขาดทุน ทั้งที่ไม่เคยได้รับประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง
 
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่ได้ช่วยต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของการลงทุน ส่วนการเปิดให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใส ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาล หลังจากถูกบั่นทอนด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

    

 
นางปัทมาวดี ซูซูกิ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า โครงการนี้มีขนาดใหญ่ แต่กลับไม่มีการพูดถึงผลกระทบต่อที่ดิน และสิ่งแวดล้อมมากนัก
 
สำหรับภาคธุรกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะไทยไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่แบบนี้มานานแล้ว แต่เม็ดเงินลงทุนที่มาจากการกู้ และบางโครงการอาจมีปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง ภาคธุรกิจจึงต้องการให้รัฐบาลยึดหลักความโปร่งใส
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง