บทบันทึกโรงหนัง stand alone

Logo Thai PBS
บทบันทึกโรงหนัง stand alone

ปัจจุบันธุรกิจโรงภาพยนตร์เน้นไปที่โรงหนังแบบมัลติเพล็ก ทำให้โรงสแตนอโลนในอดีตหลายแห่งต้องปิดตัว บางแห่งถูกทิ้งร้างและขาดคนสนใจ แต่สำหรับหนุ่มชาวอเมริกันคนหนึ่งการเก็บภาพโรงหนังเก่าและเรื่องราวของความรุ่งเรืองครั้งอดีตไว้ คือภารกิจในฐานะคนรักภาพยนตร์

เคยเป็นแหล่งให้ความบันเทิงชาวบ้านโป่งยาวนานถึง 50 ปี วันนี้โรงหนังเฉลิมทองคำเหลือเพียงเค้าของโรงหนังเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในราชบุรี ด้วยความจุขนาด 300 ที่นั่ง เป็นโรงภาพยนตร์ 2 ชั้น หากวันนี้ด้านล่างถูกเปลี่ยนเป็นร้านขายมอเตอร์ไซค์ และ ข้าวของจิปาถะ ในยุคที่ผู้คนมีทางเลือกใหม่อย่างโรงหนังมัลติเพล็กซ์ นี่อาจเป็นเพียงสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคก่อน หากสำหรับ ฟิลลิป จาบลอน หนุ่มอเมริกันวัย 34 ปี เจ้าของโครงการศึกษา The Southeast Asian Movie Theater Project โรงหนังเก่าและเรื่องราวในอดีตมีความสำคัญไม่น้อยในฐานะบทบันทึกประวัติศาสตร์ยุคใหม่

 
ฟิลลิป จาบลอน เจ้าของโครงการ The Southeast Asia Movie Theater Project กล่าวว่า "ในอดีตโรงภาพยนตร์เหมือนศูนย์รวมของชุมชน ทั้งข่าวสารและความบันเทิง และเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมความบันเทิงยุคใหม่ ที่ผู้คนหัดร้องเพลงเอลวิส เพรสลี่ย์  และแจ้งเกิดให้ดาราไทย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราช แต่พอเวลาผ่านไปกลับไม่มีคนให้ความสนใจเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไว้"
 
บุษราภรณ์ โฆษพงศา ทายาทเจ้าของโรงหนังเฉลิมทองคำ กล่าวว่า "ในช่วงเดืนท้ายๆ ปีท้ายๆ จำได้ว่ามีผู้ชมเพียง 20 คนทางโรงก็ยังฉายหนังอยู่ แต่พอมีการเข้ามาดีวีดีก้ได้รับผลกระทบ ซึ่งโรงหนังแห่งนี้ก็เป็นสมบัติของปู่ย่าตายาย ซึ่งถือว่าเป็นที่ระลึก และโรงหนังแห่งเป็นโรงหนังหนึ่งเดียวในบ้านโป่งหรือในพื้นที่ 8 จังหวัดก็ว่าได้"
 
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์เก่าจำนวนไม่น้อย ปิดกิจการเพราะไม่สามารถแข่งขันในระบบใหม่ได้ แม้ไม่ถูกรื้อก็ถูกเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เหลือเพียงป้าย ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ให้จดจำ และยังมีโรงหนังอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกปล่อยทิ้งร้างรอวันถูกรื้อเพราะหมดประโยชน์ทางธุรกิจ
 
ฟิลลิป จาบลอน ยังกล่าวว่า เขาเกิดและเติบโตในฟิลาเดลเฟียสหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงภาพยนตร์สแตนอโลนขนาดใหญ่คือเสน่ห์และสีสันของเมือง แต่พอโตขึ้นกลับไม่หลงเหลือแม้แต่โรงเดียวซึ่งสำหรับเขาโรงภาพยนตร์เป็นมากกว่าแหล่งความบันเทิงแต่มีเรื่องราวและสีสันมากมายของเมืองในนั้น
 
ภาพและบทบันทึกเรื่องราวของโรงภาพยนตร์เกือบ 300 โรงทั่วอาเซียน ทั้งไทย พม่า และ ลาว คือหนึ่งในความพยายาม ที่ ฟิลลิป ตั้งใจบันทึกและเผยแพร่ผ่านบล็อกส่วนตัวและเครือข่ายสังคมออนไลน์ และตั้งใจว่าอย่างน้อยผลงานของเขาจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของโรงหนังที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในอาเซียน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง