"สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ"ออกแถลงการณ์ หลังผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันถูกทำร้าย

สังคม
26 พ.ย. 56
04:07
137
Logo Thai PBS
"สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ"ออกแถลงการณ์ หลังผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันถูกทำร้าย

การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างชาติ นั่นคือการที่ช่างภาพชาวเยอรมันถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกาย ระหว่างบันทึกภาพแนวผู้ชุมนุมที่แยกพล.1 ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยออกแถลงการณ์ ขอให้แกนนำการชุมนุมให้หลักประกันในสิทธิของผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทำหน้าที่

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หรือ Foreign Correspondents' Club of Thailand หรือที่เรียกย่อๆว่า FCCT ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ค เรียกร้องไปยังแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลให้หลักประกันในสิทธิของผู้สื่อข่าวในการทำหน้าที่รายงานข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่นายนิค นอตสติช ผู้สื่อข่าวและช่างภาพชาวเยอรมัน ถูกทำร้ายโดยผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ระหว่างการทำหน้าที่ติดตามทำข่าวการชุมนุมทางการเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

รายงานเบื้องต้นระบุว่า มีผู้ประกาศบนเวทีชุมนุมให้ผู้ชุมนุมแยกผู้สื่อข่าวคนนี้ออกมา ซึ่งนำไปสู่การประทุษร้ายนายนอตสติช ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถ่ายทอดผ่านบลูสกายทีวี และมีความเห็นที่ผู้ชมเขียนส่งมาทางอินเตอร์เน็ต ที่เป็นการมุ่งโจมตีผู้สื่อข่าวคนนี้อีกด้วย ทางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียใจ และขอตำหนิอย่างรุนแรงที่สุดที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำการชุมนุมออกมาแถลงอย่างชัดแจ้งต่อสาธารณะว่า สิทธิของผู้สื่อข่าวทั้งชาวต่างประเทศ หรือชาวไทย ควรได้รับการเคารพ

ในส่วนของนายนอตสติชนั้น ถือว่าเป็นผู้สื่อข่าวที่คร่ำหวอดกับสถานการณ์การเมืองไทย มาทำงานในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2536 สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้สื่อข่าวรายนี้ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้

การชุมนุมทางการเมืองที่ขยายวงนำไปสู่การบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ทำให้สถานทูตหลายสิบประเทศ ออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองของตัวเองให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สถานที่ชุมนุม ประเทศที่ออกคำเตือนได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน แคนาดา บราซิล ฝรั่งเศส สวีเดนและล่าสุดคือสถานทูตสหรัฐฯในไทย ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา โดยแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และเคารพกฏหมาย การใช้ความรุนแรงและการยึดสถานที่ของราชการ หรือของเอกชนไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับประกันเสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง