ประมวลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ

เศรษฐกิจ
26 พ.ย. 56
13:44
60
Logo Thai PBS
ประมวลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ

นายกรัฐมนตรี ใช้สิทธิ์อภิปรายชี้แจงข้อกล่าวหาที่ระบุว่า ฝ่ายค้านตั้งไว้รุนแรงเกินควร พร้อมกับยืนยันว่า ทั้งส่วนตัวและรัฐบาล ให้ความเคารพในการทำหน้าที่ของทุกองค์กร รวมถึงให้ความเคารพต่อหลักประชาธิปไตย

จากที่ก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายชี้เหตุแห่งความไม่ไว้วางใจ รวม 5 ประเด็นหลัก

 
เหตุผลการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายถูกแจกแจงโดยนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ว่าการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น เกิดความผิดพลาดและเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น จนเป็นที่มาของความเสี่ยงเพราะประเทศตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ว่าด้วยตัวเลขของการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น มีการประเมินว่าสูญเสียไปแล้วถึง 235,000 ล้านบาทต่อปี
 
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบและตอบคำถามข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยรวมแล้ว มีด้วยกัน 5 ประเด็น คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการบริหารจัดการน้ำ 235,000 ล้านบาท 2.โครงการรับจำนำข้าว 3. การตรา ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท 4.การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และสุดท้าย 5. คือการหลีกเลี่ยงกลไกการตรวจสอบการทุจริต
 
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี จะลุกขึ้นมาอภิปรายชี้ว่า ข้อกล่าวหาของผู้นำฝ่ายค้าน โดยเฉพาะกรณีกล่าวหาไร้สำนึก ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้อง เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงไม่เป็นธรรม พร้อมกับยืนยันว่า ให้ความเคารพหลักประชาธิปไตย ให้สิทธิ์ประชาชนได้แสดงออก และเคารพการทำหน้าที่ของทุกองค์กรมาโดยตลอด
 
ส่วนการการบริหารที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า การตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในทุกกระทรวง และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย
 
ส่วนกรณีที่ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาเบิกความเท็จ คดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินและคดีถึงที่สุดแล้ว พร้อมชี้ว่า ไม่มีบทบัญญัติใดในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ระบุว่าเป็นกฎหมายการเงิน หรือการคืนเงินให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี
 
นายกรัฐมนตรี ยังได้อภิปรายชี้แจงภาพรวมด้านเศรษฐกิจว่า แม้ไทยต้องเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่รัฐบาลก็เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมชี้ว่า จีดีพี หลังวิกฤตน้ำท่วม ก็ทำให้จีดีพขยายตัว 6.5 % และรายได้ต่อหัวของประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง