สำรวจการจับจ่ายตลาดนัดหลัง ก.คลัง

เศรษฐกิจ
28 พ.ย. 56
01:32
167
Logo Thai PBS
สำรวจการจับจ่ายตลาดนัดหลัง ก.คลัง

ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง ถือเป็นแหล่งรวมสินค้า และอาหารสำหรับบรรดาข้าราชการจากกระทรวงการคลัง แต่หลังจากมีการชุมนุมที่กระทรวงฯ ข้าราชการบางส่วนได้ย้ายไปทำงานที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ทำให้การจับจ่ายที่ตลาดนัดแห่งนี้ไม่คึกคักเหมือนเดิม ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 2 ฝ่ายค้านได้หยิบประเด็นปัญหาโครงการรับจำนำข้าวขึ้นมาอภิปราย ซึ่งนายกรัฐมนตรียังคงยืนยันว่าโครงการนี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม แต่ในความเป็นจริง เกือบ 2 เดือนแล้ว ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวจากโครงการรับจำนำ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม

บรรยากาศที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลังค่อนข้างเงียบเหงา ถ้าเป็นช่วงเหตุการณ์ปกติ จะมีผู้คนจับจ่ายซื้อของ และร้านค้าเปิดกันเยอะ ช่วงนี้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนยอมปิดร้าน เพราะลูกค้าน้อย แต่บางคนก็ต้องยอมมาตั้งร้าน ทั้งที่ขายขาดทุน

จากการสำรวจตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง พบว่าพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่ยังมาขายของสินค้าเป็นประเภทอาหารที่เก็บไว้ได้ไม่นาน และซื้อวัตถุดิบมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์แล้ว แม่ค้าขายลูกชิ้นปลาทอดคนนี้ บอกว่า หลังจากมีการชุมนุม ยอดขายเริ่มลดลง จนตอนนี้ขาดทุนแล้ว ส่วนแม่ค้าทอดมันปลาก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากปกติมีรายได้วันละ 7,000 - 8,000 บาท แต่ช่วงนี้มีรายได้เพียง 2,000 บาท

แม่ค้าขายผลไม้คนนี้ยอดขายลดลงเช่นกัน แต่ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะมีอาชีพอื่นเสริม แม่ค้าทั้ง 3 คนนี้ ขายของที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลังมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี พวกเขาบอกตรงกันว่าไม่เคยเห็นการชุมนุมที่มีจำนวนคนเยอะเท่านี้มาก่อน แต่ความรู้สึกก็มีหลากหลาย เมื่อวานนี้ ที่เวทีชุมนุมกระทรวงการคลัง ประชาคมจากสีลม และสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้มาสมทบด้วย รวมถึงประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

เกือบ 2 เดือนแล้ว ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าว จากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิตปี 2556/2557 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เกษตรกร โดยเฉพาะภาคกลางที่เตรียมทำนาปรัง ต้องขอกู้เงินจากโรงสี โดยใช้ใบประทวนค้ำประกัน

นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวอีกว่า เกษตรกรจำนวนมากเจรจากับโรงสี เพื่อขอกู้เงิน โดยใช้ใบประทวนค้ำประกันที่ตันละ 8,000 บาท ขณะที่ราคาข้าวในใบประทวนอยู่ที่ตันละ 12,000 - 13,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาข้าวที่กำหนดไว้ในโครงการ ตันละ 15,000 บาท จากการหักค่าความชื้น

โดยเขาบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเช่าที่นา เมื่อเสร็จจากการทำนา ก็จะขายข้าวเพื่อนำเงินไปจ่ายค่าเช่า แต่ปีนี้ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจ่ายเงินล่าช้า ทำให้เกษตรกรต้องดิ้นรนหาเงินหมุนเวียนก่อน ทั้งนี้ ยอมรับว่าการนำใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้เป็นทางออกที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ถือเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างโรงสีกับเกษตรกร

ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อของยุโรป รายงานว่าภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองไทย ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างล่าช้า และจะฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง