กระแสต้านละครดังจากตุรกี

Logo Thai PBS
กระแสต้านละครดังจากตุรกี

ทุกวันนี้ละครจากประเทศตุรกีที่พัฒนาทั้งเนื้อหาและเทคนิคการถ่ายทำ กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง จนนำมาซึ่งแรงต่อต้านจากหลายชาติ ที่มองความนิยมของละครจากต่างชาติเป็นภัยต่อจริยธรรมของคนในชาติ

เรื่องราวของ สุลต่านสุลัยมาน ประมุขจากยุคทองของจักรวรรดิออตโตมัน และชีวิตของ ร็อกเซลานา ทาสสาวผู้ก้าวสู่การเป็นสุลต่านหญิงผู้ยิ่งใหญ่ คือเนื้อหาอันเข้มข้นที่ส่งให้ Magnificent Century ละครจากประเทศตุรกี ได้รับความนิยมจากแฟนละครในยุโรปตะวันออกจนถึงตะวันออกกลาง คือสิ่งยืนยันความโด่งดังของละครตุรกีที่กลายเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาติอย่างสูง โดยปีที่แล้ว (2555) รายได้จากการส่งออกละครทำเงินให้กับตุรกีเกือบ 4,000 ล้านบาท
 
แต่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของละครตุรกีในช่วง 10 ปีมานี้ สร้างความกังวลถึงการรุกล้ำทางวัฒนธรรมจากหลายชาติ ทั้งใน กรีซ ชาติไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองกับตุรกี เกิดแรงต่อต้านทั้งจากผู้นำศาสนาและนักการเมืองที่โจมตีการหลงใหลละครตุรกีว่า เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ต่อชาติคู่อริ ส่วนใน มาซิโดเนีย ได้มีการออกกฎหมายควบคุมการฉายละครตุรกีเพื่อให้ละครในชาติได้มีพื้นที่หน้าจอมากขึ้น
 
อีกชาติที่ละครตุรกีกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงคือปากีสถาน เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์ฉายละครตุรกีต่อตอนถูกกว่าค่าจ้างผลิตละครในประเทศถึง 4 เท่า ขณะที่ทุนสร้างละครตุรกีก็สูงกว่าละครจากชาติอาหรับทั่วไปที่ 2 - 3 เท่า มาตรฐานที่สูงกว่าเช่นนี้ทำให้สถานีโทรทัศน์ในปากีสถานหันมานำเข้าละครจากตุรกีอย่างล้นหลาม ซึ่งแฟนละครก็ยอมรับว่าละครตุรกีสร้างความตื่นตาในแบบที่ละครปากีสถานหรือละครอินเดียที่เคยดูให้ไม่ได้
 
แต่ละครตุรกีกำลังถูกวิจารณ์ในปากีสถานอย่างหนัก นอกจากเป็นการขัดขวางการพัฒนาวงการละครในชาติแล้ว เนื้อหาที่เน้นเรื่องราวทางทางโลก รวมถึงชุดแต่งกายของนางเอกที่ล่อแหลม จนมีนักการเมืองออกมาแสดงความกังวลว่า จะส่งผลเสียต่อจริยธรรมของคนในชาติ โดย จาเวเรีย อับบาซี นางเอกละครปากีสถานกล่าวว่า การรุกล้ำของละครตุรกีจะทำให้ชาวปากีสถานรุ่นใหม่เมินเฉยต่อรากฐานทางวัฒนธรรมของตนเอง และควรมีการแบนการฉายละครเช่นนี้ในประเทศ 
 
กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากกระแสคลั่งไคล้ละครตุรกียังรวมถึงอาชีพนักพากย์ ผู้ทำหน้าที่พากย์ภาษาอูรดู ภาษาประจำชาติของปากีสถานให้ผู้ชมได้ติดตามละครต่างชาติอย่างมีอรรถรส โดย ทาสลีม อันซารี นักพากย์อาวุโส ไม่เห็นด้วยที่กล่าวหาว่าละครตุรกีส่งผลเสียต่อคนในชาติ เพราะนางเอกละครปากีสถานบางรายก็แต่งตัวโชว์เนื้อหนังเช่นกัน เธอเห็นว่าเนื้อหาในละครคือสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ และการเป็นที่นิยมที่นี่แสดงให้เห็นว่าผู้คนเปิดใจรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเช่นกัน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง