"พล.อ.เอกชัย" แนะผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปฯต้องเว้นวรรคการเมือง

การเมือง
2 ธ.ค. 56
05:13
91
Logo Thai PBS
"พล.อ.เอกชัย" แนะผู้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปฯต้องเว้นวรรคการเมือง

ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์การที่นายสุเทพเข้าพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพอยู่ด้วย เพื่อกดดันรัฐบาลต้องรับสภาพคืนอำนาจให้กับประชาชน พร้อมแนะผู้ที่เข้ามาสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมดจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปอีก 10-20 ปี

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยถึงการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพอยู่ด้วยว่า เดิมเคยวิเคราะห์ว่าทหารจะเป็นตัวเร่งที่จะทำให้จบได้ หรือว่าให้เกิดความรุนแรง เพราะว่าถ้ามีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกมาร่วมกับตำรวจแล้วเข้ามาสลายผู้ชุมนุม จะทำให้เกิดการต่อสู้กัน และกลายเป็นสงครามได้ แต่วันนี้ ทหารเปลี่ยนมาอีกบทบาทหนึ่ง คือพยายามที่จะเป็นคนกลาง เช่น ไม่ให้ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา ในขณะเดียวกัน เตือนอย่าให้มวลชนไปบุกยึดสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นการเตือนทั้ง 2 ฝ่าย แต่ข่าวที่ออกมามักจะไม่ได้ยินข่าว ได้ยินข่าวแต่ว่าห้ามใช้แก๊สน้ำตา แต่ว่าไม่ได้ยินข่าวว่าอย่าให้มวลชนไปยึดสถานที่ราชการ

ทั้งนี้ มองว่าแม้ว่าทหารจะถูกโจมตีว่าตอนเสื้อแดงออกมาทำไมปราบเสื้อแดง ตอนฝ่ายนี้ออกมาแล้ว ทำไมทหารอยู่เฉยเลยไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารจะต้องชี้แจงเองว่าทำไมอย่างนี้ แต่มองว่าทหารพยายามที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรมากอยู่แล้ว เพราะว่าครั้งที่แล้วทำให้ตัวเองเปลืองตัวไปมากพอสมควร แต่กลับกลายเป็นดีว่าถ้าเผื่อทหารมีจุดยืนจริงๆ ว่าต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง และขอร้องฝ่ายนี้ว่าอย่ายึดสถานที่ราชการ ขอร้องฝ่ายนี้ว่าอย่าใช้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และขอให้มาคุยกัน ถ้าเผื่ออย่างนี้เป็นไปได้ เพราะวันนี้ หาคนที่จะมาเป็นคนกลาง
ที่จะหาคน 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน หาไม่ได้แล้วในประเทศไทย ก็จะไม่เหลือแล้ว วันนี้ รู้สึกว่าทหารจะได้แสดงบทบาทตรงนี้ในลักษณะที่เป็นกลางได้

อย่างไรก็ตาม มองว่าจริงๆ แล้วฝ่ายมวลชนไม่จำเป็นที่จะต้องมาคุยกับนายกรัฐมนตรี เพราะว่านายกรัฐมนตรีถือว่าหมดสภาพหมดอำนาจไปหมดแล้ว ซึ่งแกนนำ กปปส.ได้ประกาศไว้ และไม่ให้ยุบสภา หรือลาออกด้วย แต่อย่างน้อยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ลงมาคุย ถึงแม้บอกว่าไม่ใช่ตัวแทนมวลชน โดยลงมาคุยเอง มากดดันรัฐบาลต้องรับสภาพคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งวิธีคืนอำนาจไม่แน่ใจว่าจะให้ทำรูปแบบไหน เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน

ทั้งนี้ สมมติว่าหากรัฐบาลยอมให้ปฏิรูปประเทศแล้ว แต่เมื่อจะปฏิรูปประเทศไทยนั้น มองอยู่ 2 ประการ คือประการแรก เราเคยปฏิรูปมาตั้งแต่ตอนมีการปฏิวัติแล้ว ขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญโดยฝ่าย คมช.ทั้งหมด แสดงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้ว่าจะถูกเขียนโดยฝ่ายตัวเองก็ไม่ได้สนองตอบต่อการที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน แสดงว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนมาทั้งหมดก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็ไม่สามารถเคลื่อนประชาธิปไตยไปได้ต้องมีการปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ โดยประชาชนมาปฏิรูป ทำให้ไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปครั้งนี้อยากเห็นภาพว่าเป็นยังไง ถ้าเผื่อว่าเห็นแค่ 6 ข้อ ยังไม่มั่นใจ เพราะเป็นย่อยๆ ดูเหมือนจะเป็นการแย่งพื้นที่ทางการเมืองกันส่วนหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง คือว่าน่าเสียดายถ้าภาคประชาชน สมมติว่าไม่มีภาคการเมืองเข้ามายุ่งเลย ทำโดยฝ่ายพันธมิตรฯ เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ฝ่ายที่ทำเป็นของฝ่ายประชาธิปัตย์ นายสุเทพเป็นคนนำ เลยทำให้คนเกิดข้อสงสัยเหมือนกัน จึงต้องทำให้เห็นว่าทุกวันนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะมาเล่นการเมือง โดยเคยเสนอไว้ว่าไม่ว่าจะปฏิรูปยังไงก็แล้วแต่ คนที่เข้ามาสู่กระบวนการปฏิรูปทั้งหมดจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปอีก 10-20 ปี ซึ่งต้องมีการให้สัตยาบันด้วย ประชาชนจะเชื่อมากขึ้น แทนที่อย่างที่ผ่านมา คมช.ทำ แล้วลงเลือกตั้งเข้ามาอยู่การเมืองทั้งหมดเลย เกิดความไม่เชื่อถือแล้วตั้งแต่แรก จึงต้องลดความไม่เชื่อถือนี้ให้กับประชาชน บอกว่าต่อไปนี้ใครก็แล้วแต่ที่มายุ่งเกี่ยวในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปรับโครงสร้างใหม่ จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปทันที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง