สื่อต่างชาติชี้สถานการณ์ชุมนุมในไทย"หักมุม"

การเมือง
3 ธ.ค. 56
13:43
214
Logo Thai PBS
สื่อต่างชาติชี้สถานการณ์ชุมนุมในไทย"หักมุม"

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสถานการณ์ในไทยมีการหักมุม โดยฝ่ายตำรวจยอมเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลโดยไม่มีการขัดขวาง ส่งผลให้บรรยากาศที่ตึงเครียดกลายเป็นเทศกาลคาร์นิวัล

หลังจากที่เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงตลอด 3 วันที่ผ่านมา วันนี้ (3 ธ.ค.) ตำรวจได้เปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยหันมาใช้วิธีประนีประนอม โดยยกเครื่องกีดขวางและรั้วลวดหนามออก และยอมเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บ.ชน. และทำเนียบรัฐบาลได้ โดยไม่มีการขัดขวาง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การประนีประนอมของตำรวจ ทำให้บรรยากาศของการชุมนุมประท้วงที่รุนแรงมาตลอด 3 วัน ผ่อนคลายลงทันที ผู้ประท้วงบางคนเข้าไปจับมือและถ่ายรูปกับตำรวจด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ส่วนบรรยากาศของการชุมนุมตามเวทีต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคักราวกับมีเทศกาลคาร์นิวัล ผู้ชุมนุมต่างปรบมือและส่งเสียงเชียร์หลังพิธีกรและแกนนำบนเวทีประกาศชัยชนะ

<"">

เว็บไซต์แชนนัล นิว เอเชียของสิงคโปร์ รายงานว่า ท่าทีที่พลิกความคาดหมายทำให้บรรยากาศในการชุมนุมเต็มไปด้วยรอยยิ้มและการสวมกอดระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด ในขณะที่กองทัพซึ่งเคยทำการปฏิวัติเมื่อปี 2549 มาในครั้งนี้ดูเหมือนว่า ผู้นำกองทัพไทยลังเลที่จะเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ ขณะที่ ท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงในครั้งนี้ ระบุว่านี่เป็นเพียงชัยชนะส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ชัยชนะที่เบ็ดเสร็จ เพราะระบอบทักษิณยังคงอยู่ พร้อมเรียกร้องให้ผู้ประท้วงปักหลักชุมนุมต่อไป

นิตยสารไทม์ระบุว่า การกลับลำเปลี่ยนท่าทีอย่างไม่คาดฝันของตำรวจ น่าจะเกิดจากการเจรจาตกลงของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้หยุดพักเพื่อร่วมการเฉลิมฉลอง ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ซึ่งพระมหากษัตริย์ของไทยถือเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ

<"">
<"">

สำนักข่าวเอเอฟพีสัมภาษณ์ความเห็นของนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียถึงบทบาทของทหารในการปฏิวัติ ว่าไม่ได้ทำขั้วการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ถือว่าล้มเหลว เพราะจนถึงทุกวันนี้ฐานอำนาจทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

ขณะที่นายธิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ในครั้งนี้กองทัพพยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งๆ แกนนำการชุมนุมพยายามดึงกองทัพเข้าไปปลดล็อคปัญหา แต่กองทัพทราบดีว่าหากเข้าไปแทรกแซงจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง