เอกชนห่วงชุมนุมการเมืองกระทบความเชื่อมั่น

5 ธ.ค. 56
14:40
61
Logo Thai PBS
เอกชนห่วงชุมนุมการเมืองกระทบความเชื่อมั่น

ปัญหาทางออกทางการเมืองในขณะนี้ ภาคเอกชนเห็นว่ามีเพียงการยุบสภาเท่านั้น แม้จะแก้ไขความขัดแย้งได้ไม่ทั้งหมด แต่ช่วยชะลอปัญหา และประคับประคองเศรษฐกิจได้ ซึ่งคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย อาจต้องถอยหลังคนละก้าว ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ประเทศถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

การชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือน และอาจจะยืดเยื้อนานกว่านี้ เริ่มสร้างความกังวลให้กับภาคเอกชน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าหากการชุมนุมยืดเยื้อ แต่ไม่รุนแรง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่มากนัก อยู่ที่ประมาณ 10,000 - 20,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงร้อยละ 0.1-0.2 แต่หากว่าการชุมนุมสุ่มเสี่ยงเกิดความรุนแรงยืดเยื้อถึงปีหน้า เม็ดเงินที่หายไปจะอยู่ที่ประมาณ 70,000 - 100,000 ล้านบาท

สถาบันจัดอันดับต่างชาติทั้งมูดี้ส อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรตติ้ เริ่มแสดงความเป็นห่วง และเตือนว่าเหตชุมนุมทางการเมืองจะกระทบต่อการจัดอันดับความเชื่อมั่นของไทย ซึ่งปัจจุบันอันดับความน่าเชื่อถือไทยอยู่ในระดับที่ยังลงทุนได้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าทางออกในขณะนี้คือรัฐบาลต้องยุบสภา แม้จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทั้งหมด แต่จะชะลอเวลาออกไป และบรรเทาสถานการณ์ และปัญหาเศรษฐกิจที่ขณะนี้เผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัจจัยภายในประเทศทั้งค่าแรง และต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะที่นายสันติ กีรนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททริส เรตติ้ง มองว่าการยุบสภาอาจจะไม่ใช่ผลทางบวก เพราะหากกระบวนกลับเข้าสู่แบบเดิม ก็อาจเกิดการชุมนุมได้อีก ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่การเจรจาตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาการเมืองอย่างไร ซึ่งคู่ขัดแย้งควรต้องเสียสละ

นายสันติ กล่าวว่า ครั้งนี้มีประชาชนจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถาบันจัดอันดับต่างชาติจึงมองว่าสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อ กระทบการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน

ขณะที่ในส่วนของมูดี้สเคยเตือนปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว และล่าสุดพ่วงปัญหาการเมือง ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่สามารถหาทางออกได้ ก็มีโอกาสที่ไทยจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง