WTO มีมติร่วมกันครั้งแรก ออกมาตรการการค้าช่วย "ประเทศกำลังพัฒนา"

ต่างประเทศ
7 ธ.ค. 56
14:30
185
Logo Thai PBS
WTO มีมติร่วมกันครั้งแรก ออกมาตรการการค้าช่วย "ประเทศกำลังพัฒนา"

สมาชิกองค์การการค้าโลกตกลงกันได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยออกมาตรการการค้าเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่จะทำให้การค้าโลกเป็นไปอย่างเป็นธรรม และเสรี

นายโรแบร์โต อาเซเวโด้ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และนายกิตะ วิร์จาวัน รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุมดับเบิ้ลยูทีโอ ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย และสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอ จาก 159 ประเทศ แสดงความยินดีที่สมาชิกสามารถตกลงกันได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งดับเบิ้ลยูทีโอ เมื่อ 18 ปีก่อน

 
โดยข้อตกลงร่วมกัน ได้แก่ มาตรการทางการค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงมาตรการผ่อนคลายภาษีศุลกากร และเปิดโอกาสให้ประเทศยากจนส่งสินค้าออกได้มากขึ้น คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้มากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 32.4 ล้านล้านบาท และเพิ่มการจ้างงาน 21 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 18 ล้านตำแหน่งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างยิ่ง
 
การประชุมครั้งนี้ กินเวลานาน 4 วัน เกินกว่ากำหนด 1 วัน และมีแนวโน้มว่าอาจล้มเหลวเหมือนการประชุมทุกครั้ง เนื่องจากมีอุปสรรคจากประเทศสมาชิกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ยังยืนยันว่าจะต้องมีอาหารในคลังเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ส่วนคิวบา ตัดค้านการต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ แต่สุดท้ายก็ตกลงกับสหรัฐฯ ได้
 
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าว จะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกร่วมลงสัตยาบรรณให้เร็วที่สุด ซึ่งเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำดับเบิ้ลยูทีโอ คาดว่าสมาชิก 2 ใน 3 น่าจะร่วมลงสัตยาบรรณ
 
  
 
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการดับเบิ้ลยูทีโอยังกล่าวว่าปีหน้า จะพยายามรื้อฟื้นการเจรจารอบโดฮา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การค้าโลกเป็นไปอย่างเสรี และเป็นธรรม แต่ต้องชะงักมานานนับสิบปี เพราะสมาชิกมีความขัดแย้งสูง โดยเฉพาะ เรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร
 
ส่วนที่สิงคโปร์เพิ่งเริ่มการประชุมพันธมิตรหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ ทีพีพี โดยตั้งเป้าว่าจะให้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าการเจรจาจะเป็นไปอย่างเข้มข้น เพื่อหาข้อตกลงทางการเมือง รวมทั้ง เรื่องภาษี กรรมสิทธิในทรัพย์สิน และการปฏิรูปบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ
 
ทีพีพีเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐและอีก 11 ประเทศ ที่เจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้าเฉพาะประเทศสมาชิก ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
 
  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง