"นักวิชาการ" วิเคราะห์ แนวทางการเมืองหลังนายกฯยุบสภาฯ

การเมือง
9 ธ.ค. 56
12:12
115
Logo Thai PBS
"นักวิชาการ" วิเคราะห์ แนวทางการเมืองหลังนายกฯยุบสภาฯ

นักวิชาการ ระบุ แม้นายกฯรักษาการลาออกจากตำแหน่ง ผู้ที่จะขึ้นมาก็ยังคงเป็นรองนายกฯที่จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนและหากคณะรัฐมนตรีรักษาการทั้งคณะลาออกก็จะนำไปสู่การเกิดสุญญากาศทางการเมือง

วันนี้ (9 ธ.ค.56) นายไชยยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์แนวทางทางการเมืองภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาฯว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯในช่วงเช้าที่ผ่านมาถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุก เนื่องจากการยุบสภาฯถือเป็นอาวุธของฝ่ายบริหาร โดยนายกฯจะใช้ในการคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งนายกฯจะเป็นผู้นำพาปัญหาความขัดแย้งไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
 
ฉะนั้นสังคมจึงจับตาดูว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัติย์ทรงเป็นประมุข  หรือ กปปส.จะยังคงชุมนุมต่อไปด้วยเหตุผลใดและมวลชนที่ร่วมชุมนุมาโดยตลอดจะตัดสินใจอย่างไร รววมถึง ต้องดูต่อไปว่าภายหลังการแถลงการณ์ของนายสุเทพผู้ชุมนุมจะยังคงชุมนุมต่อไปหรือไม่อย่างไร และหากแกนนำยังคงยืนยันในการให้นายกฯรักษาการลาออก หรือผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมเป็นจำนวนมากและยังมีกระแสที่เห็นด้วยกับคุณสุเทพในต่างจังหวัด คำถามก็จะวกกลับมายังรัฐบาลว่า จะลาออกจากตำแหน่งนายกฯรักษาการ ตามคำเรียกร้องหรือเป็นนายกฯรักษาการต่อไป
 
นอกจากนี้ นายไชยยันต์ ยังมองว่า การที่นายกฯรักษาการจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น ตามที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยี  ระบุว่า รัฐธรรมนูกำหนดว่า  ภายหลังการยุบสภาฯคณะรัฐมนตรีจะต้องทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็พยายามระบุว่านายกฯรักษาการไม่สามารถลาออกได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัยปี 2549 ซึ่งมีผู้เรียกร้อง ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯรักษาการในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าไม่สามารถลาออกจากโดยอ้างตามรัฐธรรมนูญว่าไม่สามารถลาออกได้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

แต่จากความเห็นส่วนตัวและต้องการฝากไปยังประชาชน ยกตัวอย่างกรณีสมมติว่า หากนายกฯรักษาการประสบเหตุสุดวิสัย หรืออุบัติเหตุ ทั้ง กรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต รองนายกฯจะสามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯรักษาการได้ หรือ หากนายกฯรักษาการลาออก คณะรัฐมนตรีก็ยังคงอยู่ ซึ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯรักษาการอีกเพื่อให้สถานการณ์แผ่วลงอย่างถึงที่สุด และสัญลักษณ์ของการแสดงว่าเป็น ระบอบทักษิณแผ่วลงอย่างถึงที่สุดแล้ว แกนนำผู้ชุมนุมและผู้ชุมนุมจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งรองนายกฯในรัฐบาลจะต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ซึ่งถือว่าเป็นการถอยอย่างถึงที่สุดแล้ว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง