วิเคราะห์โครงสร้าง "สภาประชาชน"

11 ธ.ค. 56
13:55
402
Logo Thai PBS
วิเคราะห์โครงสร้าง "สภาประชาชน"

จนถึงวินาทีนี้"สภาประชาชน" ยังคงถูกตั้งคำถามถึงที่มาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมถึงโครงสร้างที่แท้จริงและบทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร หากวิเคราะห์จากบริบทรอบด้านของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. จะเห็นภาพโครงสร้าง บุคคล และบทบาทหน้าที่บางส่วนแล้ว แต่แนวโน้มความเป็นจริงนั้นจนถึงวินาทีนี้ นอกจากนายกรัฐมนตรีและครม. จะถอนตัวออกจากการทำหน้าที่รักษาการ ตามข้อเรียกร้องของกปปส.แล้ว ยังคงขึ้นอยู่กับการยอมรับของข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ที่จะสนับสนุนให้กปปส. ทำหน้าที่เป็น"รัฎฐาธิปัตย์" หรือเป็นองค์กรรัฐ ซ้อนรัฐได้ เพื่อเดินหน้าจัดตั้ง ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมาจากสภาประชาชน

พิมพ์เขียว หรือเค้าโครงสภาปฏิรูปประชาชน เพื่อการปฏิรูปอำนาจเชิงโครงสร้างครั้งประวัติศาสตร์ ที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ ภายใต้มาตรา 3 ประกอบกับมาตรา 7 ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุให้มีฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากสภาประชาชน โดยการคัดเลือกกันเอง ทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ข้าราชการจากฝ่ายตุลาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ทั่วประเทศ จำนวน 300-400 คน

<"">
<"">

ชื่อที่อยู่ในโผนี้ เช่น ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์, รองศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคเนติ, นายชัยวัฒน์ ถิระพันธ์, ตัวแทนจากสภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคารไทย, ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไทย รวมถึงตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานแล้ว

ฝ่ายนิติบัญญัติที่ว่านี้ กปปส.ชี้ว่าจะต้องทำหน้าที่คัด บุคคลเห็นว่าเป็นคนดี คนกลาง เป็นผู้มีบารมี และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อรับหน้าที่ผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และผู้ทำหน้าที่คณะรัฐบาล หรือ "คณะรัฐมนตรีชั่วคราว"

ส่วนกระบวนการนั้น กปปส.ประกาศล่าสุดว่า จะให้รองประธานประธานวุฒิสภา คนที่ 1 คือนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมเสนอชื่อ หรือลงมติร่วมกันแล้วประกาศชื่อต่อสาธารณะ ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติของสภาประชาชน จะทำหน้าที่ปฏิรูประบบและแก้ไขกฏหมายเลือกตั้งให้บริสุทธ์ยุติธรรม จัดทำกฏหมายเพื่อขจัดปัญหาคอรัปชั่น ทั้งระบบ

<"">

 

ส่วนฝ่ายบริหาร มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว และรัฐบาลชั่วคราว ที่คัดเลือกมาจากสภาประชาชน โดยต้องจัดทำนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น นโยบายกระจายอำนาจ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จัดทำแผนการปฏิรูประบบราชการใหม่ทั้งระบบ ปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ให้สอดคล้องกับสภาประชาชน

และแน่นอนว่าสภาประชาชน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะทำหน้าที่คู่ขนานไปกับการจัดการเลือกตั้ง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน หลังจากทำข้อเสนอและนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว จึงจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่การเริ่มต้นจัดตั้ง"สภาประชาชน"ได้ จะต้องกดดันให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการ ถอยออกจากการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดสุญญากาศ มีช่องทางในการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7

<"">
<"">

หากแต่ว่าจนถึงวินาทีนี้ รัฐบาล หรือ ครม.รักษาการ และพรรคเพื่อไทยต่างพลิกกฎหมายทุกมาตราแล้ว และยังคงยืนยันไม่อาจยอมให้กปปส. ทำหน้าที่เป็นรัฎฐาธิปัตย์ หรือเป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐได้ ดังนั้นนับแต่นี้ไป ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์และการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป ว่ากลุ่มบุคคลผู้ทำหน้าที่"ผู้บริหารประเทศ" ใน 2 คณะนี้ คณะใดจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไร แต่เงื่อนไขหลักและสำคัญยิ่งของการเมืองการปกครองที่จะเกิดขึ้นนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน และภายใต้รัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง