"อภิสิทธิ์" มาศาลต่อสู้คดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.

การเมือง
12 ธ.ค. 56
06:19
128
Logo Thai PBS
"อภิสิทธิ์" มาศาลต่อสู้คดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางมาที่ศาลอาญาตามที่อัยการสั่งฟ้องในคดีเหตุรุนแรงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งทนายความมาขอเลื่อนนัดการนำตัวส่งฟ้องศาลออกไปก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลอาญา ตามที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ นัดส่งตัวฟ้องศาลในคดีร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อปี 2553

ซึ่งขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เดินทางมาศาลนั้น มีทั้งกลุ่มมวลชนให้กำลังใจ มารอมอบดอกไม้ รวมทั้งกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดินทางมาศาลด้วย ทางเจ้าหน้าที่จึงได้พานายอภิสิทธิ์ ขึ้นไปภายในศาลโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีการเผชิญหน้าของทั้ง 2 กลุ่ม โดยตำรวจได้นำรั้วเหล็ก กั้นเป็นทางเดินตั้งแต่บันไดหน้าอาคารศาลจนถึงประตูทางเข้าอาคาร และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบศาล

ทั้งนี้นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราวนายอภิสิทธิ์ โดยมีญาติของผู้เสียชีวิต จากเหตุสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ร่วมลงชื่อคัดค้านจำนวน 7 คน

ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดีนี้ ได้ส่งนายเจษฏา อนุจารีย์ ทนายความ ขอเลื่อนนัดนำตัวส่งฟ้องศาลออกไปก่อน โดยอ้างว่าติดภาระกิจการชุมนุมกลุ่ม กปปส.

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยถึง กรณีที่เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.56) มีการส่งตัวแทนของดีเอสไอเข้าหารือกับ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. และ พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชต์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อขอข้อมูลคดีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ในข้อหากบฏ รวมทั้งข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ผ่านมาเพื่อที่จะนำมาเข้าพิจารณาในคณะกรรมการคดีพิเศษในวันที่ 17 ธ.ค.นี้

นายธาริต ระบุว่า เบื้องต้น นายสุเทพ มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประมาณ 40 คดี ซึ่งจะมีการนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับจะให้เหตุผลในที่ประชุมว่าเป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในการสอบสวน และผู้ต้องหาเป็นผู้ทรงอิทธิพลสำคัญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง