ท่าที"กองทัพ"ต่อ"การเมือง"

12 ธ.ค. 56
13:57
85
Logo Thai PBS
ท่าที"กองทัพ"ต่อ"การเมือง"

ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง ผู้บัญชาการเหล่าทัพยังคงระมัดระวังบทบาท และการแสดงออกทางการเมือง แต่ยังติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด และย้ำจุดยืนสนับสนุนแนวทางสันติภายใต้กฎกติกา ขณะที่ ท่าทีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังไม่ตอบรับการพูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ที่เรียกร้องขอพบหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพในขณะนี้ เพราะต้องเป็นไปตามขั้นตอน

ท่าทีของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่พร้อมใจกันวางตัวต่อสถานการณ์ทางการเมือง ด้วยความระมัดระวัง จนกลายเป็นความนิ่งที่หลายฝ่ายตีความไปในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระแสการรัฐประหารที่ยังมีอยู่ตลอดเวลา แม้กองทัพจะยืนยันว่า การรัฐประหาร โดยเฉพาะจากฝ่ายทหารจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมไปถึงข่าวลือการพบหารือทางลับระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มกปปส.กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

<"">

ขณะที่ ผู้บัญชาการทหารบกยังคงใช้กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ วิภาวดีฯ เป็นสำนักงานชั่วคราวแทนกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน มาร่วม 3 สัปดาห์แล้ว และเลี่ยงการปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัดและต่างประเทศในช่วงนี้ รวมทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพคนอื่นๆ เนื่องจากต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองร่วมกันอย่างใกล้ชิด

แม้ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณชนโดยตรง แต่ก็ยังสื่อสารกับประชาชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันจุดยืนกองทัพท่ามกลางวิกฤติการณ์การเมือง ที่ต้องการให้การเมืองแก้ไขด้วยการเมืองตามกติกา ให้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันโดยไม่แบ่งแยกสี เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยโดยแนวทางสันติ

<"">
<"">

กองทัพในขณะนี้ยังวางบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการแก้ปัญหาทุกทาง ทั้งกลไกของรัฐดูแลความสงบเรียบร้อย และการประสานพูดคุย เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และลดกระแสความขัดแย้งในบ้านเมือง แต่อยู่ภายใต้หลักการและบทบาทที่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องขอพบผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกลับได้รับคำตอบว่า ให้เป็นการตัดสินใจของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีจุดยืน 3 เหล่าทัพ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น 1 กองทัพไทย และสุดท้ายกองทัพก็ยืนยันว่า จะยังไม่มีการพบพูดคุยกับทางกลุ่มแกนนำกปปส.และควรให้ทางกลุ่มหารือกับองค์กร นักวิชาการ และบุคคลอื่นๆ ก่อน โดยกองทัพควรเป็นองค์กรสุดท้าย หากจะมีการพูดคุยร่วมกันเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

สอดคล้องกับจังหวะเวลาที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงพร้อมเปิดเวทีหารือทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออกประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคมนี้ และกองทัพก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในเวทีพูดคุยนี้ด้วย ในฐานะหน่วยงานของรัฐ

บทบาทของกองทัพต่อสถานการณ์การเมืองในวันนี้ ไม่ได้เน้นเพียงมิติภายในประเทศเท่านั้น แต่กองทัพยังคำนึงถึงมิติความสัมพันธ์และท่าทีกับกองทัพมิตรประเทศ ที่จับตามองสถานการณ์และบทบาทของกองทัพไทย ในช่วงเวลาที่กองทัพมีวิสัยทัศน์ที่เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาอาเซียน และขยายความร่วมมือกับกองทัพประเทศมหาอำนาจทั้งอเมริกาและจีน ทุกจังหวะก้าวเดินและตัดสินใจของกองทัพ จึงไม่เพียงมีความสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทย ยังหมายถึงภาพลักษณ์ของกองทัพทั้งภายในและต่างประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง