เสนอปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้ง

12 ธ.ค. 56
14:03
115
Logo Thai PBS
เสนอปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้ง

องค์กรภาคเอกชนรวม 7 องค์กร ปลัดกระทรวงทั้ง 20 แห่ง รวมทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี และภาคการเมือง ภาคประชาชน ตลอดจนองค์กรสื่อมวลชน ต่างออกมาแสดงจุดยืนและออกแถลงการณ์ เพื่อเสนอทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสาระสำคัญต่างมุ่งเน้นเห็นควรเปิดการปฏิรูปประเทศ ก่อนการเลือกตั้ง

เสียงของการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเชิงโครงสร้าง เริ่มดังกระหึ่มขึ้นทั่วประเทศ จากเดิมมีเพียงกลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคลื่อนไหวในนามคณะกรรมการรประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกปปส. ร่วมกับกลุ่มกองทัพธรรม และกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ต่อมามีทั้งภาคธุรกิจ ภาคการเมือง ภาคประชาชน และองค์กรสื่อมวลชน เริ่มปรากฏตัวแสดงความคิดเห็น ด้วยการออกแถลงการณ์ในนามของกลุ่มสมาคมวิชาชีพ โดยมีข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรจะมีการปฏิรูปประเทศ ก่อนไปสู่การเลือกตั้ง

<"">

เริ่มจากในกลุ่มนักการเมือง แน่นอนว่าช่วงฤดูการเลือกตั้งเช่นนี้ ไม่มีพรรคไหนกล้าปฏิเสธเรื่องการปฏิรูป พรรคประชาธิปัตย์ โดยหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศว่าก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยเสียก่อน ตามมาด้วยเสียงของนายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ขานรับแนวทางการปฏิรูปการเมือง แต่ควรผ่านการเลือกตั้งไปก่อน ซึ่งหากพรรคการเมืองใดต้องการปฏิรูป ก็ควรชูนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการรณรงค์หาเสียงด้วย

ในส่วนของข้าราชการทหาร ตำรวจ แม้ไม่มีแถลงการณ์ออกมาอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปการเมือง และต้องการร่วมวงในการยุติความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ในกลุ่มข้าราชการพลเรือน มีการประชุมร่วมกันของปลัดกระทรวงทั้ง 20 แห่ง รวมสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ มีใจความสำคัญคือ ในอนาคตจะต้องมีแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่เป็นรูปธรรม เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

<"">
<"">

สอดคล้องกับท่าทีของแถลงการณ์ของ 7 องค์กรภาคเอกชน ที่เสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจา สนับสนุนให้มีการปฏิรูปทางการเมือง และการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น มิเช่นนั้นก็จะนำไปสู่วิกฤตรอบใหม่โดยไม่มีที่สิ้นสุด โดยองค์กรธุรกิจทั้ง 7 ประกอบไปด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยจะเชิญกลุ่มนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออกด้วย

ก่อนหน้านี้ทั้ง 7 องค์กรนี้ ได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน 45 องค์กร และเครือข่ายทั้ง 77 จังหวัด จากสาชาวิชาการ นักฎหมาย กลุ่มวิชาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน และนักศึกษา ได้ร่วมกันจัดตั้ง "สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 2556" หรือ สปท.56 โดยมีข้อเสนอปรับโครงสร้างทางการเมือง และมุ่งขจัดนายทุนทางการเมืองแบบรวมศูนย์ผูกขาด กระจายอำนาจให้แก่ ประชาชนให้มีการปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปการเมืองเเละอำนาจรัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปการบริหารประเทศ 3.ปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมเเละยุติธรรม 4.ปฏิรูปการศึกษา 5.ปฏิรูปเศรษฐกิจที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน ในเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีองค์กรวิชาชีพใด ที่ปฏิเสธการปฏิรูปการเมือง ก่อนไปสู่การเลือกตั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง