ป.ป.ช.เชิญเลขาธิการศาลรธน.เข้าให้ข้อมูล "คำวินิจฉัย" กรณี "ส.ส.-ส.ว." เห็นชอบแก้รธน.

การเมือง
13 ธ.ค. 56
04:43
35
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.เชิญเลขาธิการศาลรธน.เข้าให้ข้อมูล "คำวินิจฉัย" กรณี "ส.ส.-ส.ว." เห็นชอบแก้รธน.

ป.ป.ช.เร่งไต่สวนคดีที่มีคำร้องขอถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. กรณีลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยวันนี้ (13 ธ.ค.) จะเชิญเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเข้าให้ข้อมูล พร้อมยอมรับว่า ตามหลักการแล้วคำตัดสินของ ป.ป.ช.ไม่ควรสวนทางกับคำวินิจฉัยของศาล

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยความคืบหน้า กรณีมีผู้มายื่นคำร้องกล่าวหาขอให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการร้องถอดถอนอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ส.ส. และ ส.ว. ผู้เสนอวาระ พิจารณา และลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.จำนวน 383 คน ซึ่งเบื้องต้น ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้มีมติให้รวมสำนวนคำร้องทั้ง 8 เรื่องให้เป็นสำนวนเดียวกัน เนื่องจากเป็นคำร้องลักษณะเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน และมีตัวละครกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้กำหนดแนวทางการไต่สวนคดีดังกล่าว 3 แนวทาง คือ

 
1.) ประธานป.ป.ช.จะลงนามในคำสั่งเพื่อส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหา 2.) แจ้งให้ทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการไต่สวน เพราะจะหยิบเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณา โดยปิดโอกาสชี้แจงไม่ได้ แต่จะพยายามไม่ให้เยิ่นเย้อ และอาจลดขั้นตอนบางอย่างหรือตัดพยานบางปากออกไป และ 3.) ป.ป.ช. ได้กำหนดแนวทางการไต่สวน โดยในวันนี้ (13 ธ.ค.) จะเชิญ นายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายผู้กล่าวหาเข้าชี้แจง โดย ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะได้จากเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเจ้าของเรื่องจึงต้องนำคำวินิจฉัยและรายละเอียดหลักฐานทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา
 
จากนั้นจึงจะเชิญพยานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่รัฐสภา และจะแจ้งคำสั่งในลักษณะปูพรมไปยัง ส.ส. และส.ว.ทั้ง 383 คน เพื่อให้นำหลักฐานเข้าชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งสามารถจะชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมาด้วยตนเองก็ได้ ส่วนการไต่สวนจะแล้วเสร็จเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าชี้แจงของ ส.ส.และส.ว. ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่มีจำนวนมาก
 
กรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับด้วยว่า โดยหลักการคำตัดสินของป.ป.ช. ไม่อาจสวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดในการไต่สวนประกอบกับเอกสารหลักฐานต่างๆด้วย
 
ขณะที่เมื่อวานนี้ นายสมเกียรติ หอมละออ ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยและคณะ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินคดีต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ปีหน้า จะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเลือกตั้งซ่อม โดยเฉพาะคดีไต่สวนถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว. 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง