ร้านหนังสือ The writer’s secret พื้นที่คนวรรณกรรม

Logo Thai PBS
ร้านหนังสือ The writer’s secret พื้นที่คนวรรณกรรม

เพราะเชื่อว่าโลกวรรณกรรมไม่ได้มีเพียงแค่หนังสือและผู้อ่าน แต่ยังต้องมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนทางความคิด การกลับมาในยุคที่ 3 ของนิตยสารไรท์เตอร์ จึงมาพร้อมกับร้านหนังสืออิสระแห่งใหม่ ที่ตั้งใจให้เป็นวงสนทนาของคอวรรณกรรม

ความเชื่อว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์นั้น คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับแวดวงวรรณกรรมและต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม เป็นมุมมองหนึ่งของนักเขียนรุ่นใหม่ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันในวงเสวนาเรื่อง "วรรณกรรมไทยในมือคนรุ่นใหม่" ประเดิมภารกิจแรกของร้านหนังสืออิสระน้องใหม่ The writer’s secret โดยสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นล่างของสำนักงานใหม่ ตั้งใจให้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคอวรรณกรรม

แม้ไม่ต่างจากร้านหนังสืออิสระทั่วๆไปที่เน้นหนังสือวรรณกรรมชั้นดี ซึ่งไม่มีพื้นที่จำหน่ายตามร้านหนังสือเชนสโตร์ขนาดใหญ่ หากเพราะเป็นร้านหนังสือในเครือสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ หนังสือส่วนใหญ่จึงผ่านการคัดสรรจากกองบรรณาธิการ หรือเคยผ่านการการันตีคุณภาพในคอลัมน์ “น่าอ่าน” ของนิตยสารไรท์เตอร์มาแล้ว ทั้งยังเปิดในรูปแบบร้านกาแฟ The writer’s secret จึงเป็นพื้นที่ให้นักอ่านและนักเขียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเบื้องหลังหนังสือเล่มโปรด

หลังการกลับมาของไรท์เตอร์ยุคที่ 3 เมื่อปี 2554 โดยบินหลา สันกาลาคีรี ก่อนส่งทอดมาสู่นักเขียนรุ่นใหม่ เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2552 “อุทิศ เหมะมูล” บุคลิกของไรท์เตอร์จึงเริ่มฉายภาพวงวรรณกรรมของนักเขียนหนุ่มสาวมากขึ้น รวมถึงการเปิดพื้นที่คอลัมน์ให้กับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่สร้างแรงบัลดาลใจต่องานวรรณกรรม สะท้อนการปรับตัวที่ต้องเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย

กระแสความซบเซาของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ที่แม้แต่สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่หลายรายยังมีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 10 หากสำหรับกลุ่มไรท์เตอร์แล้ว ยังมองว่าแม้งานวรรณกรรมจะมีพื้นที่จำกัด แต่ยังมีความสำคัญต่อสังคม กำไรของพวกเค้าจึงไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง