ประเมินเหตุเลื่อนเลือกตั้ง

19 ธ.ค. 56
15:19
85
Logo Thai PBS
ประเมินเหตุเลื่อนเลือกตั้ง

การแถลงเสนอให้รัฐบาล และ กปปส.เปิดหารือ เพื่อหาข้อสรุปในการเลือกตั้งร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันนี้ มีรายงานถึงข้อกังวลของ กกต.ในการประเมินสถานการณ์การเมือง และบ้านเมือง รวม 3 ประเด็นหลักด้วยกัน นั่นคือ ความพร้อมของพรรคการเมือง, ความเห็นต่างทางการเมืองของคนในสังคม และเหตุการณ์ชุมนุมที่จะกระทบต่อการเปิดรับสมัครลงรับเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันจันทร์หน้า

เบื้องหลังของข้อกังวลที่ กกต.ต้องออกมาแถลงยื่นข้อเสนอให้กับ รัฐบาล และ กปปส. เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันนั้น มีรายงานถึงการประเมินสถานการณ์ใน 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรกคือการตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เข้ารายงานการเคลื่อนไหวชุมนุม โดยเฉพาะการนัดหมายเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ หน่วยข่าวระบุตรงกันว่าผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งจะเข้าปิดล้อมสนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบของอาคารกีฬาเวสน์ 2 ซึ่งเป็นสถานที่เปิดรับสมัครเลือกตั้งวันแรก ในระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อของเช้าวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคมนี้

กรณีเปิดรับสมัครไม่ได้ตามกรอบเวลานั้น  กกต. มีอำนาจที่จะเลื่อนไปออกได้ 1 วัน แต่กรอบเวลาทั้งหมดอาจต้องขยับใหม่ จากเดิมรับสมัครระบบบัญชีรายชื่อ 23 - 27 ธันวาคม อาจต้องปรับเป็น 24 - 28 ธันวาคม และเลื่อนรับสมัครระบบเขตเป็น 29 ธันวาคมถึง 2 มกราคม แต่ยังกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เช่นเดิม เว้นแต่เหตุการณ์จะบานปลายกลายเป็นผลกระทบที่กว้างขึ้น ก็อาจถึงขั้นต้องให้ความเห็นต่อรัฐบาล เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 30 วัน และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็สามารถเลื่อนออกไปได้อีกคราวละ 30 วัน จนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

การแสดงออกทางการเมือง เพื่อต่อต้านคัดค้านฝ่ายตรงข้าม เป็นประเด็นที่ 2 ที่ กกต.หยิบยกขึ้นมาประเมินสถานการณ์ร่วมกัน แล้วเชื่อว่าผลอาจต่อเนื่องไปกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครในพื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของฝ่ายตรงกัน อาจเกิดขึ้นกับผู้สมัครของทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างขั้ว และกลายเป็นข้อสังเกต ถึงเหตุความวุ่นวายที่จะตามมา แม้จะข้ามพ้นวันสมัครรับเลือกตั้งไปได้

เพราะแม้แต่นายกฯยิ่งลักษณ์  ชินวัตร จะลงพื้นที่ตรวจราชการ และติดตามการดำเนินนโยบายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความเห็นต่างของประชาชนในพื้นที่ทั้งที่สนับสนุน และคัดค้านต่อต้าน และมีแนวโน้มสูงว่าเหตุเผชิญหน้าของกลุ่มความเห็นต่างทางการเมืองอาจเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

หากตั้งสมมุติฐานจากคำประกาศของ กปปส.ที่เชื่อมั่นว่ากรุงเทพมหานคร และ จ.สุราษฎร์ธานี จะไม่มีผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพราะคัดค้านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และหากดึงดันก็ย่อมต้องเกิดเหตุวุ่นวายได้ ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวข้องโดยตรงกับบรรยากาศทางการเมือง หรือบรรยากาศของการเลือกตั้ง ซึ่งแม้พรรคเพื่อไทยจะแสดงความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่กระแสข่าวก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่องความไม่ลงตัว

และล่าสุดก็มีอดีต ส.ส.ของพรรคออกมาระบุถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสข่าว บันได 7 ขั้น ที่ "เพื่อไทย" เตรียมปฏิรูปพรรคก้าวข้ามคนในตระกูล "ชินวัตร" ไม่ต่างกับพรรคประชาธิปัตย์ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดท่าทีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ จึงนัดประชุมชี้ขาดในห้วงเวลาสุดท้ายของเกมชั่งน้ำหนักสถานการณ์ เพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง