กระแสนิยมรายการทีวีเกาหลีในเมืองจีน

Logo Thai PBS
กระแสนิยมรายการทีวีเกาหลีในเมืองจีน

นอกจากเพลง, หนัง และละครแล้ว สื่อวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมในต่างแดนยังรวมไปถึงรายการโทรทัศน์เช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองจีนที่วันนี้ที่รายการวาไรตี้จากแดนโสมถูกนำไปผลิตซ้ำในเมืองจีนมากมาย และประสบความสำเร็จในการออกอากาศหลายรายการด้วยกัน

Dad! Where Are We Going? รายการเรียลิตี้โชว์ที่ตามติดภารกิจคุณพ่อคนดังของเมืองจีน ในการพาลูกๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ออกหาอาหารในป่าจนถึงปรุงอาหารกินกันเอง ซึ่งการนำเสนอชีวิตครอบครัวของคนดัง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยในแดนมังกร รวมกับความนิยมรายการเกี่ยวกับเด็กของชาวจีนที่ถูกควบคุมการมีทายาทด้วยนโยบายลูกคนเดียว ทำให้รายการซึ่งสถานี Hunan TV ของจีนซื้อลิขสิทธิ์มาจากประเทศเกาหลีใต้นี้ กลายเป็นรายการโทรทัศน์ทางเคเบิลที่ทำเรตติ้งสูงสุดในเมืองจีน และทำยอดผู้ชมแบบออนไลน์กว่า 5 ล้านครั้ง

แต่เดิมความนิยมรายการโทรทัศน์จากเกาหลีใต้ในหมู่ชาวจีน จะจำกัดแต่ในโลกออนไลน์ เมื่อรายการดังๆ อย่าง Running Man หรือ We Got Married ต่างถูกดาวน์โหลดไปชมแบบผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย กระทั่ง Hunan TV ตัดสินใจนำ I Am a Singer เรียลิตี้ โชว์แดนกิมจิ ที่นำนักร้องผู้มากประสบการณ์มาแข่งกันโชว์พลังเสียง มาผลิตในเวอร์ชั่นภาษาจีนกลาง โดยมีทีมงานของทั้ง 2 ชาติร่วมมือในการผลิต ส่งให้รายการเปิดตัวด้วยเรตติ้งสูงสุดด้วยยอดผู้ชมถึงร้อยละ 2.38 แซงหน้า The Voice of China รายการประกวดร้องเพลงคู่แข่งที่จีนซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ความโด่งดังของ I Am a Singer นำไปสู่การนำเนื้อหาของรายการไปสนทนาบนโลกออนไลน์กว่า 100 ล้านข้อความ และยอดชมคลิปการแสดงรวมกันกว่า 200 ล้านวิว

ความสำเร็จของ I Am a Singer ทำให้สถานีโทรทัศน์ตามเมืองต่างๆ ของจีนหันมาซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวีของเกาหลีใต้ไปผลิตซ้ำอย่างมากมาย ทั้ง Superstar K เรียลิตี้ โชว์ค้นฟ้าคว้าดาวอันดับ 1 ของเกาหลีใต้, 1 Night and 2 Days รายการแนวท่องเที่ยวที่มีแขกรับเชิญเป็นเหล่าคนดัง, K-pop Star เวทีค้นหานักร้องหน้าใหม่ โดยมีกรรมการเป็นตัวแทนจาก 3 ค่ายเพลงยักษใหญ่ของวงการเคป็อป, Immortal Song เวทีที่เปิดโอกาสให้ไอดอลรุ่นใหม่นำเพลงดังในอดีตมาแข่งกันร้องใหม่ และ Hidden Singer โชว์ที่โด่งดังจากการนำนักร้องต้นเสียงไปร้องเพลงข้างหลังม่านร่วมกับเงาเสียงอีก 4 คน แล้วให้ผู้ชมเลือกว่าใครคือเจ้าของเสียงตัวจริง

ซางฉี ผู้ผลิตรายการ Superstar China เวทีประกวดชื่อดังของจีนชี้ว่ากระแสความนิยมรายการทีวีเกาหลีใต้ มาจากเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมจีน แม้ญี่ปุ่นจะส่งออกสื่อทางวัฒนธรรมไม่น้อย แต่สำหรับผู้ชมชาวจีนแล้ว เนื้อหาของรายการทีวีเกาหลีใต้เข้าถึงใจของผู้ชมทั่วไปมากกว่า และยิ่งวันนี้จีนเปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอกเพิ่มขึ้น ความนิยมต่อการผลิตซ้ำรายการบันเทิงแดนกิมจิในเมืองจีนก็ยิ่งเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง