มติพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557

การเมือง
21 ธ.ค. 56
13:00
290
Logo Thai PBS
มติพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงมติพรรคไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยอ้างว่าการเมืองไทยทุกวันนี้อยู่ในภาวะล้มเหลว ซึ่งเป็นผลจากปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ รวมถึงไปการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ซึ่งมองว่าการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงถึงมติพรรคในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งว่า วันนี้ ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรค และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคได้มีมติว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มตินี้เป็นข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการพิจารณา และกระบวนการที่มีความรอบคอบ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคประธิปัตย์อย่างแท้จริง โดยในการประชุมนั้นได้มีการรายงานจากเลขาธิการพรรค ซึ่งได้มีการสอบถามความคิดเห็นของสาขาพรรคทั่วประเทศต่อกรณีการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และแนวทางของพรรค รวมไปถึงการให้รองหัวหน้าพรรคในทุกภาค ซึ่งได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับอดีต ส.ส.ของแต่ละภาค ความเห็นของทุกฝ่ายไปในทางเดียวกัน คือเห็นพ้องต้องกันว่าพรรคไม่สมควรส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นว่าการเมืองของประเทศไทยได้อยู่ในภาวะที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-9 ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทางประชาธิปไตยได้ถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม และทำให้วันนี้พี่น้องประชาชนนั้นขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมือง และในระบบการเลือกตั้ง หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไป นั่นหมายความว่าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูป เราจะตกอยู่ในสภาพที่ปัญหาการเมืองที่ล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและความสูญเสีย และการทุจริตคอร์รัปชั่นเบียดบังผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง พรรคประชาธิปัตย์ต้องการหยุดภาวะการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแบบนี้

พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่าใน 8-9 ปีที่ผ่านมา เราได้พยายามแก้ไขปัญหาสภาพการเมืองที่ล้มเหลวอย่างนี้ แต่วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องหาแนวทางที่จะทำให้เราแก้ไขปัญหานี้ได้จริง และให้คำตอบแก่ประชาชน ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสมาตลอดระยะเวลาของภาวะการเมืองที่ล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในแง่ของนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และเป็นการตัดโอกาสของประเทศไทยในภาพรวมที่จะก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยทุกคนดีขึ้น

พรรคประชาธิปัตย์มองว่าสภาพการเมืองที่ล้มเหลวต่อเนื่องมาในปัจจุบันนี้ เป็นปัญหาซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยังทำหน้าที่รักษาการอยู่เป็นผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤต ทั้งๆที่มีโอกาสจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ที่จะนำพาบ้านเมืองให้พ้นจากสภาพการเมืองที่ล้มเหลว โดยอาศัยเสียงสนับสนุนของประชาชนในขณะนั้นแก้ปัญหาให้กับประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจ กลับปรากฏว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอกย้ำให้เห็นว่าพรรคการเมือง นักการเมืองที่เข้ามาแสวงอำนาจ เมื่อได้รับอำนาจและความไว้วางใจนั้นไป กลับใช้ไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยอมให้มีการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำได้กระทั่งการล้างความผิดให้แก่คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และได้มีการตัดสินแล้วโดยศาล รวมไปจนถึงความพยายามแก้ไขกติกาสูงสุดของประเทศ บิดเบือนโครงสร้างอำนาจ ต่างตอบแทนกับนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง คือสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง หวังผลที่จะให้ตนเองนั้นเข้าสู่อำนาจ และครองอำนาจตลอดไป และใช้อำนาจนั้นกอบโกยผลประโยชน์ และเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของตนเอง แม้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบได้วินิจฉัย ก็กลับแสดงท่าทีไม่ยอมรับอำนาจศาล และยังคิดแสวงหาหนทางในการบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง ครอบครัว และในการที่แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องต่อไป

พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ของเราในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มความสามารถ สามารถชะลอ สามารถยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายอย่างที่ถ้าหากว่าไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแล้ว ก็คงจะทำให้บ้านเมืองในปัจจุบันนั้นอยู่ในสภาพที่เสียหายเป็นอย่างมาก เช่น กฎหมายนิรโทษกรรมก็อาจจะผ่านไปแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาก็อาจจะผ่านไปแล้ว หรือการกู้ยืมเงินที่จะทำให้คนไทยเป็นหนี้ถึง 50 ปี ก็อาจจะผ่านไปแล้ว แต่ในที่สุด แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้แสดงบทบาทดังกล่าว วิกฤตศรัทธาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ก่อขึ้น ได้ส่งผลลุกลามไปสู่วิกฤตศรัทธาที่มีต่อพรรคการเมืองโดยรวม ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มองว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่ให้คำตอบแก่ประเทศได้ ไม่อาจจะเป็นการเลือกตั้งนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้ และไม่อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมามีศรัทธาในระบบพรรคการเมือง และสภาผู้แทนราษฎรที่จะได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาได้

การลุกลามของศรัทธาที่มีต่อพรรคการเมืองครั้งนี้ ส่งผลให้แม้พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ไม่อาจที่จะตอบโจทย์ หรือคลายวิกฤตศรัทธาดังกล่าวไปได้ และตลอดระยะเวลาที่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นต้นมา ตนเอง และพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดว่าจะหาแนวทางอย่างไรให้สามารถกอบกู้ศรัทธาของพี่น้องประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้ง และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ตนเอง และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ค้นพบความจริงว่าการที่พรรคการเมืองจะลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ประชาชนกลับมองว่าเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนเองได้ใช้ความพยายามถึงขั้นว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าสภาพความรู้สึกดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์

ตนเองได้ใช้ความพยายาม อาสาตนเอง อาสาว่าพรรคจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป เพราะเชื่อว่าการปฏิรูปก็ดี การต่อสู้กับระบอบทักษิณก็ดี ในขั้นสุดท้ายจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากพี่น้องประชาชนไม่ผ่านกระบวนการประชามติ ก็เป็นกระบวนการเลือกตั้ง แต่วันนี้ไม่สามารถเริ่มต้นได้ภายใต้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตนเองได้พยายามถึงขั้นที่ว่าค้นหาบุคคลที่ตนเองมั่นใจว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นที่สุดว่าจะมาสามารถนำการปฏิรูปได้ เสนอแนวทางว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยให้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถคัดเลือกรัฐมนตรีที่จะมาขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิรูปได้อย่างเต็มที่เป็นอิสระ อาสาตัวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่เพียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา เป็นเสียงข้างมากที่จะสนับสนุนให้การปฏิรูปเกิดขึ้น ประสบความสำเร็จ และมีการคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป แต่สุดท้ายบุคคลที่จะได้รับความเชื่อถือที่ได้มีการไปพูดคุยก็ดี ความรู้สึกของประชาชนที่ได้ไปสอบถามก็ดี ก็ยังยืนยันว่าแม้จะกระทำการดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งได้

ตนเองได้เข้าไปร่วมในเวทีสานเสวนาก็มีตัวแทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชนที่ยืนยันว่ามาถึงวันนี้การจะไปสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองก็ดี แม้จะมีสัตยาบันก็ดี แม้ว่าจะสัญญาว่าจะไม่อยู่ครบ 4 ปีก็ดี วันนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จลงได้ ซึ่งในฐานะพรรคการเมืองที่มีความเชื่อในการปฏิรูป ตนเองรู้สึกเสียใจ เพราะการปฏิรูปหลักๆ หลายอย่างนั้น พรรคพยายามดำเนินการมาแล้ว รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่มีอำนาจเคยเสนอกฎหมายหลักๆ ที่จะนำไปสู้การปฏิรูปแล้ว เช่น ทำให้ความผิดทางทุจริตไม่มีอายุความ เช่น การจะปรับปฏิรูประบบภาษีให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน รวมไปถึงข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการปฏิรูปที่เป็นคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นในอดีต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง