พื้นที่ภาพยนตร์เพศทางเลือก

Logo Thai PBS
พื้นที่ภาพยนตร์เพศทางเลือก

ขณะที่หลายประเทศมีการเรียกร้องสิทธิให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ และมีภาพยนตร์ที่พูดประเด็นคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น แต่สำหรับภาพยนตร์กลุ่มหญิงรักหญิงก็อาจยังมีพื้นที่ไม่มากนัก หากความสำเร็จจากเวทีภาพยนตร์เมืองคานส์ก็อาจเปิดพื้นที่ใหม่ให้ภาพยนตร์กลุ่มนี้

เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เดินสวนกับผู้หญิงลึกลับที่ย้อมผมสีฟ้าบนถนน กลายเป็นเวลาที่ อเดล เด็กสาววัย 15 ต้องกลับมาตั้งคำถามถึงสิ่งที่เธอเคยเชื่อว่าผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชายจริงหรือไม่ หนึ่งในฉากสำคัญของ Blue is The Warmest Color ผลงานกำกับภาพยนตร์ ของ อับเดลลาทิฟ เคชิช ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และเป็นภาพยนตร์หญิงรักหญิงที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของปีนี้ ประธานกรรมการตัดสินภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุดอย่าง สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก ยังกล่าวว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงความรักได้อย่างงดงาม ดูแล้วทำให้เขารู้สึกเหมือนหัวใจสลาย

บรรยากาศหน้าโรงภาพยนตร์ที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คนกว่า 150 คน คือส่วนหนึ่งของกลุ่มหญิงรักหญิงที่มารอชมรอบพิเศษในไทยของ Blue is the warmest Color และส่วนหนึ่งตั้งใจย้อมผมเป็นสีน้ำเงินตามอย่างตัวละคร แม้ในวงการภาพยนตร์นอกกระแส มีภาพยนตร์ไม่น้อยที่พูดถึงคนรักเพศเดียวกันและประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลก หากมีไม่มากนักที่เป็นตัวแทนสื่อเรื่องราวหญิงรักหญิง เพราะที่ผ่านมาคนในวงการภาพยนตร์มองว่าอาจมีกลุ่มผู้ชมไม่มากพอ แต่ความสำเร็จด้านรางวัลและรายได้ของภาพยนตร์กลุ่มนี้ ก็น่าจะเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างมากขึ้น

ประเด็นการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในหลายประเทศ ทำให้ภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับและมีผู้สร้างมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 2013 อย่างเรื่องโฟลททิ้ง สกายสแครปเปอร์ ภาพยนตร์ชายรักชายเรื่องแรกของโปแลนด์ หรือ วิค แอนด์ โฟล ซอว์ อะ แบร์ หนังเลสเบียนรางวัลหมีเงินจากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน จนถึงความสำเร็จของ Blue Is the Warmest Color บนเวทีภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่ง อับเดลลาทิฟ เคชิช ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่า แม้เขาจะทำหนังที่เกี่ยวกับหญิงรักหญิง หากเนื้อหาที่แท้จริง คือเรื่องของความรักที่เป็นสากลของคนทั้งโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง