สมาคมชาวนาไทยเตรียมฟ้องร้อง กรณีรัฐจ่ายเงิน "จำนำข้าว" ล่าช้า

เศรษฐกิจ
25 ธ.ค. 56
01:44
189
Logo Thai PBS
สมาคมชาวนาไทยเตรียมฟ้องร้อง กรณีรัฐจ่ายเงิน "จำนำข้าว" ล่าช้า

หลังปีใหม่นี้ หากปัญหาการจ่ายเงินจำนำข้าวที่ล่าช้ายังไม่ดีขึ้น นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุว่า ต้องฟ้องร้องตามกฎหมาย และได้เริ่มปรึกษากับนักกฎหมายแล้ว โดยที่ผ่านมา ก็เรียกร้องไปยังรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย

ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนค่อนข้างมาก จากการเอาข้าวไปจำนำแล้ว ยังไม่ได้รับเงิน ประกอบกับ เป็นช่วงการชำระหนี้สิน ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), กองทุนหมู่บ้าน และยังต้องลงทุนทำนาปรัง ส่วนการที่เกษตรกรเอาใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้ก็จะได้เงินเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน

 
ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ก็ออกมายืนยันว่า มีเงินจ่ายให้เกษตรกรได้ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น หลังจากนี้ก็ต้องรอเงินระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ สต็อกข้าวที่เก็บไว้นาน ๆ แบบนี้ ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า หากเกิน 2 ปี และไม่เร่งระบายข้าวออกมาจะมีค่าเสื่อมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

    

 
โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังระบุอีกว่า ค่าเสื่อมดังกล่าว ยังไม่นับรวมกรณีที่มีโรงสีบางราย นำข้าวใหม่คุณภาพดีออกไปขาย แล้วนำข้าวเก่ามาสวมแทนไว้ในโกดัง ซึ่งทำให้ค่าเสื่อมจะยิ่งสูงมากขึ้น
 
ขณะที่รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า จากปริมาณข้าวในตอนนี้ เชื่อว่า ต้องใช้เวลาหลายปีในการระบาย อย่างเช่น ถ้าจะระบายสต็อกข้าวให้เหลือประมาณ 2 ล้านตัน ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-7 ปี และหากจะระบายสต็อกให้ได้เร็วกว่านี้ ราคาข้าวส่งออกของไทยจะต้องต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนาม และอินเดีย ส่วนปริมาณข้าวที่มีเก็บไว้จำนวนมาก กำลังทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศ และต่างประเทศ ไม่มั่นใจคุณภาพ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า คุณภาพของข้าวไทยที่เคยมีมากกว่าเวียดนามกำลังจะหายไป

    

 
ทางด้านน.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ก็คาดหวังให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกข้าวมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ขณะที่สต๊อกข้าวของรัฐบาลไทยที่ยังมีมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกทรงตัว และมีแนวโน้มลดต่ำลง
 
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีการเปิดเผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนเกษตรกรในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็พบว่า ระดับหนี้พุ่งร้อยละ 4.8 ส่วนรายได้เพิ่มเพียง ร้อยละ 2.84


ข่าวที่เกี่ยวข้อง