สานฝันคนอยากทำร้านหนังสืออิสระ

Logo Thai PBS
สานฝันคนอยากทำร้านหนังสืออิสระ

หลังสายส่งหนังสือใหญ่ในไทยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนในแวดวงหนังสืออิสระทั้งสำนักพิมพ์ และร้านหนังสือขนาดเล็กจึงร่วมมือกัน หวังสนับสนุนให้คนทำหนังสือรายย่อยสามารถอยู่รอดได้ ล่าสุด ได้มีการจัดอบรมการทำร้านหนังสืออิสระเป็นครั้งแรก ตั้งใจสร้างอีกช่องทางให้วงการวรรณกรรมไทย

จากประสบการณ์ 2 ปีที่เปิดร้านหนังสือ Bookmoby และได้เดินทางไปสำรวจร้านหนังสืออิสระหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ ‘ปราบดา หยุ่น’ เข้าใจว่าอัตลักษณ์ของร้านที่ชัดเจน จากการคัดเลือกหนังสือที่ขาย และจัดกิจกรรมน่าสนใจ รวมถึงบรรยากาศเป็นมิตรที่เจ้าของร้าน และนักอ่านสามารถพูดคุยกันอย่างถูกคอ คือเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนให้กลับมาที่ร้าน และทำให้ร้านหนังสือขนาดเล็กสามารถอยู่รอดได้ ท่ามกลางการขยายตัวของร้านหนังสือเครือข่ายขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

หนึ่งในเคล็ดลับจากเจ้าของร้านหนังสืออิสระที่นำมาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจในงาน ‘ร้านหนังสืออิสระ นับหนึ่งให้ถึงฝัน’ จัดเป็นครั้งแรกโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการร้านหนังสืออิสระรายใหม่ และให้เข้าใจวงการนี้มากขึ้น

ปัญหาหลักในการทำร้านหนังสืออิสระของผู้ประกอบการหน้าใหม่ คือการขาดความเข้าใจเชิงธุรกิจ จึงไม่สามารถบริหารการเงิน และจัดการสต็อกหนังสือได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น การลดราคาสินค้าในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ยังทำให้นักอ่านคุ้นชินกับหนังสือลดราคา และไม่อยากซื้อหนังสือในราคาเต็มจากร้านขนาดเล็ก

อำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง กล่าวว่า ร้านหนังสืออิสระให้ส่วนลดไม่ได้เพราะกำไร fix มา 25% ต่อเล่ม ถ้าเหลือ 10% มันอยู่ไม่ได้ ปัจจัยหลักคือคนทำอาจไม่ได้รักหนังสือจริง อาจมองเพ้อฝัน พอเจอปัญหาเลยอาจทำให้ถอดใจ

ปราบดา หยุ่น เจ้าของร้านหนังสือ Bookmoby กล่าวว่า ถ้ารักการอ่านอย่างเดียว ก็จะไม่อยู่ในโลกความจริงในโลกธุรกิจ ถึงหนังสือจะเป็นข้อมูลทางปัญญา แต่อยู่ในรูปแบบสินค้า การขายสินค้าก็ต้องอยู่บนความจริงทางธุรกิจ

การที่ 2 สายส่งรายใหญ่ในไทยอย่าง ซีเอ็ดยูเคชั่น และอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ เจรจาสำนักพิมพ์เก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าร้อยละหนึ่งจากราคาปก และมีแนวโน้มจะเพิ่มส่วนแบ่งกำไรจากการขายหนังสือขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10 จะส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์เล็ก และคนอ่านเป็นวงกว้าง จึงมีความพยายามช่วยเหลือสำนักพิมพ์อิสระ และร้านหนังสือขนาดเล็กอยู่ตลอดทั้งการจัดสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ และจัด ‘มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด’ ที่ตีพิมพ์วรรณกรรมคุณภาพจำนวนจำกัด และวางจำหน่ายในร้านที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น

รวมถึงมีการวางแผนจัดทำ Book Logistics ที่จะพลิกวงการขนส่งหนังสือในประเทศ การอบรมผู้สนใจทำร้านหนังสืออิสระครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของคนตัวเล็กที่ฝันอยากทำร้านหนังสือ และจะมีการอบรมผู้สนใจทำสำนักพิมพ์อิสระต่อไปในปีหน้า
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง