ตักบาตรข้าวเหนียวฉลองพระบาง

Logo Thai PBS
ตักบาตรข้าวเหนียวฉลองพระบาง

ชวนไปชมงานบุญของเพื่อนบ้านใกล้ ในโอกาสฉลองพระบาง พระคู่เมือง ที่หวนคืนสู่หลวงพระบาง มีการสมโภชอยู่หลายวัน หนึ่งในภาพตรึงตาสะท้อนถึงศรัทธาคือการตักบาตรข้าวหนียว พระร่วม 100 รูป

พื้นที่ด้านหน้าหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง หรือ พระราชวังหลวงเดิมเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนชาวลาว ในชุดแต่งกายพื้นเมืองที่สำรวม หญิงนุ่งซิ่น เบี่ยงแพร มาร่วมงานบุญครั้งสำคัญ ตักบาตรข้าวเหนียว ฉลองการกลับคืนของพระบางสู่หลวงพระบาง หลังจากนำไปประดิษฐานที่เวียงจันทน์นานกว่า 30 ปี พระคู่เมืองกลับคืนถิ่นและนำมาประดิษฐานที่หอพระใหม่ อาหารและปัจจัย ที่ขาดไม่ได้คือข้าวเหนียวหอมกรุ่น คือสิ่งของที่แต่ละครอบครัวเตรียมมาร่วมงานบุญวันนี้ 

 
ทองมิ่ง แก้วสะหวัน ชาวลาวหลวงพระบาง บอกว่า วันพิเศษวันนี้เป็นวันที่ทำบุญนั่นน้าให้แก่พระบาง พระประจำเมืองลาวเป็นพระที่ศักสิทธิ์อยู่ที่เมืองลาวอยู่ ที่หลวงพระบางนี้ เตรียมตัวตั้งแต่สองโมง (หัวเราะ) ทำนึ่งข้าว นึ่งข้าวแล้วก็มาใส่ของใส่บาตร ที่เตรียมมามีขนมแล้วก็มีข้าวเหนียวที่ห่อด้วยน้า ห่อเพื่อว่าอันน่า เพื่อว่าจะจับอะน้ามันจะไม่ทัน แล้วก็เพื่อให้ความสะอาดแล้วก็บ่ให้เปื้อนที่ว่าจะเข้าบ้านของพระอาจารย์ 
 
  
 
วิเสด สุกกะเสม ชาวลาวหลวงพระบาง เล่าว่า มื้อนี้มีความสำคัญพิเศษเนอะที่ว่าซาวหลวงพระบางเฮานี้ได้มาใส่บาตร เพราะว่ามันก็หลาย หลายปีนะที่ว่าพระบางที่จะมาอยู่หลวงพระบางเนาะ ครบฮอบ 40 ปลายปี ที่จะมีวันนี้นะ หลังจากประเทศลาวที่ปลดปล่อยมา และก็เอาพระบางมาไว้ที่แขวงหลวงพระบางเนาะ (พี่เตรียมแต่กี่โมงคะ) โอ้ ก็เตรียมตั้งแต่ 5 โมงเนาะ ถ้าว่ามาซ้าก็บ่ได้นั่ง เนอะ ก็คือคนเต็มหมด (เตรียมอะไรมาใส่บาตรบ้าง) ก็เตรียมข้าวเนาะ ตอนแรกก็ข้าวแล้วก็เป็นข้าวต้มเนาะ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มัน มันไม่ทัน ก็เลยเอาขนมมาตัก
 
พระบาง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของหลวงพระบาง ตามประวัติกล่าวไว้ว่า เจ้าฟ้างุ้ม มหาราชองค์แรกของชนชาติลาว ทรงรวบรวมผู้คนและดินแดนน้อยใหญ่ แล้วสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ที่มีเชียงทองเป็นราชธานี แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เรียกว่า “พระปาง” หรือ “พระบาง”มาประดิษฐาน ซึ่งเชียงทองถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “หลวงพระบาง” ตามชื่อของพระบางพระคู่เมือง พระบางถูกอัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ที่เวียงจันทน์ หลังลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจำลององค์พระไว้ที่หลวงพระบาง จนวันนี้หอพระบางหลังใหม่เสร็จสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานเพื่อเป็นมิ่งขวัญคู่หลวงพระบาง 

    

 
นอกไปจากการตักบาตรข้าวเหนียวที่มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่ง ยังมีงานฉลองสมโภช และขบวนบุญผ้าป่ากว่าร้อยกอง นำรายได้บำรุงที่หอพระที่ก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี นอกไปจากเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวลาว ยังเป็นอีกสถานที่ซึ่งงดงามไปด้วยงานศิลปะแบบล้านช้าง 
 
  
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง