กองทัพไทย กับ ความพยายามพึ่งพาตนเองด้านยุทโธปกรณ์

19 ม.ค. 53
17:21
263
Logo Thai PBS
กองทัพไทย กับ ความพยายามพึ่งพาตนเองด้านยุทโธปกรณ์

ตลอดช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา กองทัพไทยได้มีการวิจัยศึกษาและพัฒนายุทโธปกรณ์ แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการบูรณาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศจากต่างเหล่าทัพ ทำให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนาการสร้างอาวุธ ด้วยเป้าหมายให้กองทัพสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านยุทโธปกรณ์

ครม.รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติช่วงปลายปี 2550 ให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยี่ป้องกันประเทศ หรือ สทป. ขึ้นในลักษณะองค์การมหาชน ซึ่งเป็นองค์การมหาชนแห่งแรกของกระทรวงกลาโหม เพื่อทำโครงการวิจัยขนาดใหญ่ด้านยุทโธปกรณ์ เนื่องจากการวิจัยพัฒนาความรู้ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของนักวิจัยในกองทัพตลอดช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการทำงานภายใต้โครงสร้างของหน่วยงานราชการ และไม่สามารถทำให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยี่ป้องกันประเทศ

ก่อนหน้าการจัดตั้งสทป.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปี 2552 สภากลาโหมมีมติช่วงปลายปี 2549 เห็นชอบกับแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อความมั่นคงระหว่างช่วงปี 2550- 2559 คาดว่าอาจใช้เงินงบประมาณกว่า 3,700 ล้านบาทโดยในระยะแรกสปท.จะเริ่มวิจัยจรวดหลายลํากล้องจากนั้นจะพัฒนาระบบนําวิถีเพื่อนำมาใช้ประกอบเป็นจรวดนําวิถี ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากองทัพได้มีการพัฒนาความรู้ด้านจรวดซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญในการป้องกันประเทศ

พล.ท.ดร. ฐิตินันท์ ธัญญสิริ ผอ. สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เปิดเผยว่าในการวิจัยจรวดหลายลำกล้อง กองทัพไทยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากมิตรประเทศที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี่ด้านจรวด และคาดการณ์ว่าภายในช่วยปลายปีหน้าจะสามารถผลิตอาวุธต้นแบบให้กองทัพบกนำไปใช้ในการป้องกันประเทศ

มีรายงานว่ามิตรประเทศที่พร้อมให้ความช่วยเหลือกองทัพไทยในการพัฒนาจรวดคือประเทศจีน
ด้านพล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม คาดหวังว่า ผลงานวิจัยจากสทป.จะช่วยต่อยอดการพัฒนาการสร้างอาวุธของกองทัพไทยในอนาคต ที่อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาจรวดนำวิถีมาใช้งาน และ เพิ่มรายได้จากการขายอาวุธกับมิตรประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีข้อเรียกร้องในช่วงที่ผ่านมาให้กองทัพไทยเข้าร่วมในการผลิตอาวุธเพื่อจำหน่ายต่อสมาชิกอาเซี่ยน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง