การทำงานของตำรวจกับการอุ้มรีดพยาน

19 ม.ค. 53
17:21
74
Logo Thai PBS
การทำงานของตำรวจกับการอุ้มรีดพยาน

คดีการหายตัวไปของ “สมชาย” และนักธุรกิจซาอุฯ เป็นคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องและสามารถสืบสวนจนนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ขณะที่ทนายความแม็กไซไซเผยการทำงานของตำรวจในอดีตมักนิยมใช้วิธีการนำพยานหรือผู้ต้องสงสัยไปสอบปากคำและทรมานจนเสียชีวิต แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมายใหม่ควบคุมอยู่
เป็นเวลาเกือบ 6 ปีที่นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 โดยมีตำรวจเกี่ยวพันกับคดีจนศาลรับฟ้องและศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้ว จนมาถึงคดีล่าสุดที่มีพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจ รวม 5 คน ตกเป็นจำเลยในคดีการหายตัวไปของนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย เชื้อพระญาติของกษัตริย์ไฟซาล

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย ในฐานะประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เห็นว่า คดีของทนายสมชายและคดีของนายอัลลูไวรี่ เป็นคดีตัวอย่างที่ชี้ชัดได้ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าเกี่ยวข้องกับการทำให้หายตัวไป ซึ่งที่ผ่านมา ตำรวจบางกลุ่มมักนิยมใช้วิธีให้ได้ข้อมูลการสืบสวนด้วยการนำพยานไปสอบปากคำและใช้วิธีการทรมาน โดยมีบางรายเสียชีวิต จึงนำไปสู่การปกปิดความผิดด้วยการทำให้บุคคลเหล่านี้สูญหาย

ด้านนายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแม็กไซไซ เห็นว่า ปัจจุบันการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจะมีหลายองค์กรในสังคมร่วมตรวจสอบมากขึ้น ทั้งสื่อมวลชนและต่างประเทศ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ทำให้วิธีการข่มขู่และการนำพยานไปสอบปากคำ หรือจับผู้ต้องสงสัย โดยไม่มีหมายศาลนั้นไม่สามารถกระทำได้

ตามกฎหมาย ระบุว่า การปฏิบัติงานของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการจับผู้ต้องสงสัยนั้น จะกระทำโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลไม่ได้ ยกเว้นแต่เป็นการกระทำความทำผิดต่อหน้าเจ้าพนักงาน และตำรวจมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ถูกจับเพื่อสอบสวนเพียง 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะต้องนำส่งศาลเพื่อขออำนาจฝากขัง หากเจ้าพนักงานฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง