นักการเมืองกับจริยธรรมทางการเมือง

19 ม.ค. 53
17:21
1,297
Logo Thai PBS
นักการเมืองกับจริยธรรมทางการเมือง

จริยธรรมนักการเมือง กำลังเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักการเมือง แม้ในปัจจุบันจะมีนักการเมืองบางคนที่ยอมรับ ในการปฏิบัติตามแนวจริยธรรม แต่ก็มีนักการเมืองบางคนที่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ขณะที่นักวิชาการ ระบุว่า ยังจำเป็นต้องพัฒนาความรับผิดชอบนักการเมืองไทย ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น
อาการมึนเมาของนายโชอิจิ นากางาวะ อดีตรัฐมนตรีคลังของประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการแถลงข่าวประชุมจี 8 ที่อิตาลีเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นข้อครหาว่าพฤติกรรมนี้ เป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศ ทำให้นายโชอิจิแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองญี่ปุ่น ที่สะท้อนถึงจิตสำนึก และมาตรฐานด้านจริยธรรมที่ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

ด้านรศ.ไชยันต์ ไชยพรคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า นักการเมืองไทยเริ่มมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีขึ้น อาทิ กรณีของนายวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศลาออกหลังจากมีข่าวมั่วหมองเรื่องการทุจริต แต่ยังมีนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นที่แตกต่าง เช่น นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศไม่ลาออก แม้จะถูกชี้มูลว่าพัวพันกับโครงการไทยเข้มแข็งที่ไม่โปร่งใส และยังคงยืนกรานในความบริสุทธิ์ของตนเอง แม้นักวิชาการจะเรียกร้องว่า อาชีพนักการเมืองเป็นงานที่จำเป็นต้องมีความ รับผิดชอบสูงทางจริยธรรม และต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าการจัดการศึกษา ที่ส่งเสริมให้คนในสังคมยึดถือประโยชน์ของส่วนรวม และการแสดงออกของพลังทางสังคม จะมีส่วนสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาให้ความรับผิดชอบนักการเมืองไทย มีมาตรฐานสูงขึ้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง