รัฐบาลพลัดถิ่นจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

25 ม.ค. 53
09:06
200
Logo Thai PBS
รัฐบาลพลัดถิ่นจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในขณะนี้ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียืนยันว่าพร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วความหมายของรัฐบาลพลัดถิ่นที่แท้จริงจะต้องตั้งขึ้นมาจากภาวะสงครามเท่านั้นในการวิดิโอลิงค์เมื่อคืนนี้ (23 ม.ค.) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในการชุมนุมของกลุ่มนปช.จุดสนใจอยู่ที่คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอีกครั้ง โดยอ้างเรื่องปฏิวัติมาประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียังระบุว่าไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้เปรียบเสมือนรัฐบาลพลัดถิ่นที่ใช้ต่างประเทศเป็นฐานบัญชาการ แต่ใน
ความเป็นจริงรัฐบาลพลัดถิ่นจะต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากภาวะสงคราม

ในหนังสืออธิบายศัพท์การทูต และการเมืองระหว่างประเทศ ให้ความหมายไว้ว่ารัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้นจากภาวะสงครามที่กองทัพของประเทศฝ่ายศัตรูเข้ายึดครอง หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีประเทศที่ถูกยึดครองอำนาจ
อาจไปจัดตั้งรัฐบาลขึ้นชั่วคราว ในดินแดนของประเทศพันธมิตรหนึ่งโดยรัฐบาลพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองฐานะเป็นตัวแทนของประเทศตนจากนานาชาติ ย่อมดำเนินกิจการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างที่เคยมีมาแล้ว คือ รัฐบาลของประเทศโปแลนด์ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ กรีซ และยูโกสลาเวีย ซึ่งไปตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ดินแดนของประเทศเหล่านี้ถูกกองทัพของเยอรมนีเข้ายึดครอง
รวมถึง กรณีที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ทำการต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีชาติพันธมิตรรับรอง

ในขณะที่รัฐบาลพลัดถิ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้ แตกต่างจากเหตุผลในการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอดีตเป็นอันมาก เพราะแทนที่จะเป็นเรื่องการลี้ภัยทางสงคราม กลับเป็นเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเอง
การพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นครั้งนี้ จึงมองได้ว่า มีขึ้นเพื่อต้องการคานอำนาจทางการเมือง จนอาจทำให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นอีก


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง