"นักสันติวิธี" กังวลนปช.ยกระดับอาจนำไปสู่ความรุนแรง

29 มี.ค. 53
10:43
58
Logo Thai PBS
"นักสันติวิธี" กังวลนปช.ยกระดับอาจนำไปสู่ความรุนแรง

การประมาณการจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช.ที่ผิดพลาด ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดวางไว้
ก่อนหน้าการเคลื่อนมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 มี.ค.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติชาติ (นปช.) มีความมั่นใจอย่างมากถึงจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมจากทั่วประเทศ

แต่เมื่อจัดชุมนุมใหญ่ รัฐบาลประมาณตัวเลขผู้มาชุมนุมที่ 80,000 คน ขณะที่สื่อมวลชนจากหลายสำนักให้ตัวเลขกว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดหมายของกลุ่มนปช.ร่วมเกือบ 10 เท่า ทำให้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.ไม่ก่อผลกระทบทางการเมืองอย่างที่ตั้งเป้าไว้

ด้านพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า หากผู้มาร่วมชุมนุมมีถึง 1 ล้านคน จะก่อผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อรัฐบาล

ขณะที่นายเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุค ศรีอาริยะ) ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ และอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เห็นว่า การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดถึงตัวเลขผู้ชุมนุมมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ยอมรับว่า ถูกแกนนำกลุ่มนปช.กันไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนเคลื่อนไหว และเห็นว่า ในปัจจุบันกลุ่มนปช.อยู่ในภาวะที่ตกเป็นรองและยากที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พร้อมระบุว่า มวลชนที่มาร่วมจำนวนมากได้ทยอยเดินทางกลับ หลังจากไม่พอใจแกนนำ

ขณะที่พล.ท.พิรัช สวามิวัศม์ คนใกล้ชิดพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การต่อสู้ที่ขาดเอกภาพและแนวทางที่ชัดเจนของกลุ่มนปช.เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การชุมนุมครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และชี้แจงถึงสาเหตุที่พล.อ.ชวลิตยังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฏว่าอยู่ระหว่างพักฟื้นจากการผ่าตัดตา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเข้าโรงพยาบาลของพล.อ.ชวลิต เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หากเกิดเหตุรุนแรงจากมือที่ไม่ทราบฝ่าย

น.ส.ชยานิษฐ์ พูลยรัตน์ นักวิชาการด้านสันติวิธี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การเจาะเลือดของกลุ่มนปช. เพื่อนำมาใช้ในการประท้วงรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ยังอยู่ในแนวทางสันติวิธี และยอมรับว่ามีความกังวลหากผู้ชุมนุมลดน้อยลง อาจทำให้เกิดแนวทางที่เปลี่ยนไปจากแนวสันติวิธี


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง