ร่วมรำลึก 200 ปีโรเบิร์ต ชูมันน์

ศิลปะ-บันเทิง
9 มิ.ย. 53
17:17
1,161
Logo Thai PBS
ร่วมรำลึก 200 ปีโรเบิร์ต ชูมันน์

ดนตรี ความรัก และโศกนาฎกรรม คือ 3 สิ่งที่คนมักจะนึกถึง โรเบิร์ต ชูมันน์ คีตกวีที่ 200 ปีผ่านไป ดนตรีของเขาได้สร้างชื่อเสียงให้กับเจ้าของงานประพันธ์มากกว่าตอนที่เขามีชีวิตอยู่เสียอีกความเชี่ยวกรากทางอารมณ์ที่ถาโถมลงในบทเพลง Violin Concerto in D minor ผลงานที่ โรเบิร์ต ชูมันน์ ประพันธ์ขึ้นในช่วงที่อาการโรคประสาทเริ่มรุมเร้า ได้กลายเป็นบทเพลงที่ถูกอคติบทบังคุณค่าในโสตศิลป์นานนับศตวรรษ เมื่อถูกคำสั่งห้ามบรรเลงเป็นเวลา 100 ปีในพินัยกรรมของ โจเซฟ โจอาคิม ยอดนักไวโอลินที่ชูมันน์อุทิศผลงานให้ เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุแห่งการเผาผลาญจิตวิญญาณของชูมันน์ให้วิกลจริต การที่โลกต้องรอกว่า 80 ปีก่อนเพลงนี้จะถูกบรรเลง ถือเป็นสิ่งสะท้อนให้กับผลงานอีกหลายชิ้นของ โรเบิร์ต ชูมันน์ เมื่อความก้าวล้ำทางศิลปะจนบางครั้งคนในรุ่นเดียวกันไม่อาจจะเข้าถึงได้

โรเบิร์ต ชูมันน์ เป็นคีตกวีชาวเยอรมันยุคโรแมนติก เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1810 จากการที่ต้องเสียเวลาเรียนกฏหมายเพื่อเอาใจครอบครัว ทำให้การกลับไปหักโหมซ้อมเปียโนของเขากลายเป็นความหายนะ เมื่อมือของเขาได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถเล่นดนตรีได้สมบูรณ์อีกต่อไป ทางออกของชูมันน์คือการมุ่งมั่นกับการแต่งเพลงเพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นคีตกวีที่ช่ำชองในผลงานเพลงหลากหลายแบบ ทั้งงานออเคสตร้าและเปียโน

คุณูปการของชูมันน์ยังรวมไปถึงการผลักดันนักดนตรีใหม่ๆ ผ่านงานเขียนของเขาในนิตยสาร New Journal for Music ที่เป็นการเปิดเส้นทางอาชีพให้กับคีตกวีมากมายทั้ง เมนเดลส์โซห์น, แบร์ลีโอส, โชแปง, ลิสต์ พร้อมทั้งสนับสนุนหนุ่มน้อยวัยเพียง 20 กว่าอย่างๆ โยฮันเนส บรามห์ ที่ต่อมาจะกลายเป็นคีตกวีเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากยุคของบีโธเฟนเป็นต้นมา

ผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในชีวิตของชูมันน์ก็คือ คลาร่า เมื่อรักต่างวัยและฐานะไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยกันของทั้งสองได้ จนภรรยาสาวผู้เก่งกาจในฝีมือเปียโนได้กลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและเป็นบ่อเกิดแห่งดนตรีอันแสนพิสุทธิ์มากมายที่ชูมันน์ได้อุทิศไว้กับเธอตลอดชีวิตอันแสนสั้นของเขา

โรคประสาทที่กำเริบอย่างรุนแรงจากความเครียดทางการเงินของครอบครัว ความกลัวว่าจะเป็นภัยต่อภรรยาสุดที่รักทำให้เขาตัดสินใจไปใช้ชีวิต 2 ปีสุดท้ายในสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิต หลังจากชูมันน์จากโลกไปในวัยเพียง 46 ปี คลาร่าได้ตั้งปณิธานที่จะทำให้ดนตรีของผู้เป็นสามีได้รับความนิยมเหมือนกับคีตกวีคนอื่น ด้วยการออกเดินทางแสดงดนตรีของชูมันน์ไปทั่วยุโรปจนวาระสุดท้ายของเธอ จนวันนี้ผลงานหลายชิ้นของชูมันน์ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการดนตรีโลกในที่สุด


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง