เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ศอฉ.พิจารณา

การเมือง
15 มิ.ย. 53
02:30
72
Logo Thai PBS
เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ศอฉ.พิจารณา

ทนายความเตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว 11 แกนนำนปช.ที่จะครบกำหนดการควบคุมตัวในวันนี้ ส่วนผลการหารือกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม คาดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ก่อนที่จะส่งต่อให้ศอฉ.พิจารณาอีกครั้งในวันเดียวกัน

ผลการพิจารณาออกกฎหมายพิเศษ เพื่อยกเว้นความผิดให้ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ, คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีความเห็นว่า สามารถออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และไม่ถูกข้อกล่าวหาก่อการร้าย วางเพลิงเผาทรัพย์สิน หรือปล้นสะดม

แม้จะมีความเห็นว่าสามารถออกเป็นกฎหมายพิเศษได้ แต่ที่ประชุมยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่า ควรจะออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอำนาจสั่งการในช่วงการชุมนุม ที่ถูกฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้ ที่ประชุมเห็นว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่น่าจะครอบคลุม เพราะมีมาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองอยู่แล้ว

หลังการหารือ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้า และคาดว่า ผลการหารือดังกล่าวจะถูกเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงเย็น เพื่อตัดสินใจว่าจะออกเป็นกฎหมายพิเศษหรือไม่

มีรายงานว่า ที่ประชุมได้เสนอความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่า หากออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะสอดคล้องกับแนวทางปรองดองของรัฐบาล และที่ผ่านมาก็เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นการยกเว้นความผิดที่ไม่ร้ายแรง เนื่องจากมีผู้เข้าข่ายกระทำความผิดจำนวนมาก

ส่วนข้อเสีย คืออาจกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้คนไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย และอาจนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำซาก ซึ่งกรณีนี้ สอดคล้องกับความเห็นของนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ที่ได้ฝากข้อสังเกตผ่านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดยระบุว่า หากมีการออกกฎหมายพิเศษดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางการให้นิรโทษกรรมความผิด อย่างนายประเกียรติ นาสิมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายชัย ชิดชอบ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสนอให้มีการพิจารณากรณีนี้ไปในคราวเดียวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนการดำเนินการกับแกนนำนปช. 11 คน ที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะครบกำหนดการควบคุมตัวในวันนี้ (15 มิ.ย.) โดยตำรวจจะต้องนำตัวไปขอถอนการควบคุมตัวจากศาล ซึ่งหลังเสร็จสิ้นขั้นตอน กรมสอบสวนคดีพิเศษจะขอให้ศาลดำเนินการควบคุมตัวเพื่อสอบสวนต่อ ในคดีก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทันที โดยไม่ต้องมีการออกหมายจับซ้ำอีก

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. เปิดเผยว่า ทีมทนายความของนปช.ได้เตรียมหลักทรัพย์รายละ 1 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวแกนนำทั้ง 11 คนไว้แล้ว โดยเชื่อว่า ศาลจะมีดุลยพินิจเช่นเดียวกับที่เคยอนุญาตให้ประกันตัวนายการุณ โหสกุล และตนเองมาก่อนหน้านี้ แต่หากศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้ง 11 คนจะถูกควบคุมตัวต่อทันที

ส่วนการเข้าเยี่ยมหารือของนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ กับนายวีระ มุสิกพงษ์ แกนนำนปช. เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.)

นายวีระ แสดงความเห็นด้วยกับการตั้งนายคณิตเป็นประธานคณะกรรมการ แต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากเห็นว่าหากมีตัวแทนจากรัฐบาลและนปช.เข้าร่วม ก็จะเกิดการโต้เถียงจนไม่ได้ข้อเท็จจริง โดยคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายควรเป็นผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น

นอกจากคณะทำงานชุดของนายคณิต ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ ทั้งคณะทำงานชุดปฏิรูปการเมือง สังคม สื่อ และการเทิดทูนรักษาสถาบันสูง ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะสามารถนำส่งรัฐบาล เพื่อจัดทำเป็นแผนดำเนินการหรือพิมพ์เขียวได้ภายในวันที่ 1 ธ.ค.นี้



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง