มุมมองที่แตกต่างในบันทึกร่วมไทย-กัมพูชา

16 ส.ค. 53
10:13
42
Logo Thai PBS
มุมมองที่แตกต่างในบันทึกร่วมไทย-กัมพูชา

หลังเอกสารร่างมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่มีการลงนามโดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ถูกเปิดเผย และถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชนว่า เป็นการยอมรับแผนการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา และยอมรับการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบริหารปราสาทพระวิหาร หรือ ไอซีซีแล้ว แต่นายสุวิทย์ ยืนยันว่า การลงนามไม่มีผลผูกพันกับประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบการแปลความหมายในเอกสาร ฉบับนี้ทั้ง5ข้อจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายให้ความหมายที่มีบางถ้อยคำที่เป็นสาระสำคัญต่างกันมากเนื้อความในข้อที่ 1 ฝ่ายภาคประชาชนให้ความหมายว่า "ไทยได้ยินยอมและรับร่างเอกสารดังกล่าวว่าถูกต้อง" แต่รัฐบาล บอกว่า ได้รับเอกสารการประชุมครั้งนี้แล้ว"จะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างที่คำว่า "ยินยอมและรับร่าง"ของภาคประชาชน กับคำว่า "ได้รับเอกสาร" ของรัฐบาล

ข้อที่ 2 ภาคประชาชน แปลความว่า "ไทยยอมรับผลมติผูกพันที่มีในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 3 ครั้งก่อนหน้านี้" พร้อมเสริมว่า ข้อเสนอของกัมพูชา ในครั้งที่แล้ว ทำให้ไทยเสียประโยชน์ แต่รัฐบาล แปลว่า "อ้างถึงข้อตัดสินใจ ของคณะกรรมการในการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา " จะเห็นว่า มีข้อแตกต่างที่คำว่า "ยอมรับมติผูกพัน"ของภาคประชาชน และ คำว่า "อ้างถึงข้อตัดสินใจ"ของฝ่ายรัฐบาล

ข้อที่ 3 ที่ ภาคประชาชน แปลว่า "บันทึกว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ยอมรับเอกสารการบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาแล้ว" แต่รัฐบาลแปลความว่า "รับทราบว่า ศูนย์มรดกโลก มีเอกสารที่เสนอโดยรัฐภาคี" ซึ่งมีความต่างตรงคำว่า "คณะกรรมการมรดกโลกได้ยอมรับเอกสาร" กับ "รับทราบว่า ศูนย์มรดกโลกมีเอกสาร"

ข้อที่ 4 ถูกตีความมากที่สุดว่า ไทยยอมรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไอซีซี แล้วหรือไม่ โดยภาคประชาชน ที่มองว่า ตอบรับแล้ว แปลว่า "ทั้ง 2 ประเทศยินดีและยอมรับว่ากัมพูชาสามารถเดินหน้าตั้งคณะกรรมการไอซีซีได้" ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล แปลว่า "รับทราบขั้นตอนที่จะมีการจัดตั้งกรรมการไอซีซีเพื่อการพัฒนาปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน"ซึ่งนายสุวิทย์ ยืนยันว่า ไม่มีถ้อยคำใด ที่บ่งบอกว่า เป็นการเข้าร่วมในไอซีซี

โดยข้อนี้ ยังคงมีความเห็นต่างจากอดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย 2 คนก่อนหน้านายสุวิทย์

ส่วนข้อที่ 5 แม้คำแปลของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีเนื้อหาคล้ายกัน ที่ระบุว่า ที่ประชุมจะพิจารณาเอกสารของกัมพูชาในการประชุมครั้งหน้า แต่ในคำแปลของภาคประชาชน มีข้อความว่า "ที่ประชุมได้รับร่างแผนดังกล่าวแล้ว" รวมอยู่ด้วย

การให้ความหมายที่ต่างกัน ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง จนหลายฝ่ายกังวลถึงความไม่เป็นเอกภาพของไทย โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้นายวีระ สมความคิด แกนนำภาคประชาชน มาร่วมพูดคุย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง