เพิ่มรถไฟฟ้าแก้วิกฤตจราจร กทม.

26 ก.ย. 53
20:00
55
Logo Thai PBS
เพิ่มรถไฟฟ้าแก้วิกฤตจราจร กทม.


กรุงเทพมหานครประกาศเจตนารมย์ โดยตั้งเป้าให้ประชาชนใช้บริการโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากเดิมที่ใช้เพียงร้อยละ 40 ขณะหลายฝ่ายยอมรับว่าต้องขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า เพื่อแก้วิกฤตจราจร และปัญหาประชากรล้นเมืองหลวงในขณะนี้
จักรยานกว่า 4,000 คัน จากสมาชิกชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ร่วมรณรงค์ ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าให้คนใช้บริการรถสาธารณะในปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากปัจจุบันที่ใช้เพียงร้อยละ 40 และลดสัดส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลจากร้อยละ 60 ให้เหลือร้อยละ 40

แม้มีการรณรงค์ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ในทางปฎิบัติ กลับพบว่าประชาชนที่ใช้รถยนต์บางส่วน ไม่ได้ปรับพฤติกรรมไปใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ยิ่งกว่านั้นการเติบโตของเมืองหลวง ทำให้ปัจจุบันปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านคัน

การแก้วิกฤตจราจรทางเดียวที่กรุงเทพมหานคร และกระทรวงคมนาคมเห็นสอดคล้องกัน คือสร้างระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ระยะทาง 145 กิโลเมตร รองรับการเติบโตของชุมชนเมืองตั้งแต่ปีหน้า

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงคมนาคม ยังมีแนวคิดสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม 2 เส้นทาง คือ สายสีชมพู เส้นทางแคราย-ปากเกร็ด-คลองสามวา และสายสีส้ม เส้นทางบางกะปิ-บางบำหรุ แต่ขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน และยอมรับว่า วิกฤตจราจรส่วนหนึ่งเกิดจากรถตู้สาธารณะกว่า 7,000 คันไม่นับรวมรถตู้ที่วิ่งระหว่างกรุงเพ ไปต่างจังหวัด ซึ่งจะจัดระเบียบใหม่ในเดือนตุลาคม

ความไม่แน่นอนทางการเมืองนับเป็นปัจจัยสำคัญมาก ในการตัดสินใจลงทุนก่อสร้างสำหรับผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะเส้นทางมักถูกเปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่สิ่งที่มั่นใจได้คือทุกรัฐบาลนับจากนี้ จะให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟฟ้า

ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร, กระทรวงคมนาคม และบีทีเอส ยังตั้งข้อสังเกตสอดคล้องกันด้วยว่า แม้มีประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นต่อเนื่อง และแม้โครงข่ายรถไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนหลายประเภท จะถูกสร้างมารองรับและครอบคลุมมากเพียงไร แต่ปริมาณประชากรที่ล้นเมืองในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และปัญหาจราจรก็อาจยังวิกฤตต่อไปอยู่ดี


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง