“ธุรกิจนมผง” ตัวการเด็กกินนมแม่ลดลง

27 ก.ย. 53
20:00
723
Logo Thai PBS
“ธุรกิจนมผง” ตัวการเด็กกินนมแม่ลดลง

น้ำนมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก จึงมีการรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนหลังคลอด และเลี้ยงด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารอื่นจนถึง 2 ขวบหรือมากกว่านั้น การกินนมแม่ยังถือเป็นสิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ธุรกิจนมผงที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อทำการตลาดเชิงรุก ก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ไม่ได้กินนมแม่อย่างที่ควรจะเป็น นี่คือกลยุทธ์ส่งเสริมการขายรูปแบบหนึ่งของธุรกิจนมผง ที่ มัทนี สุรินทราบูรณ์ หงส์ธนนันท์ เคยพบเจอด้วยตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ลูกชายคนนี้ ประสบการณ์ครั้งนั้นเกือบทำให้เธอเข้าใจผิด และหันไปเลี้ยงลูกด้วยนมผง เพราะกังวลว่านมของตัวเองจะมีไม่เพียงพอสำหรับลูก แต่โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากคลินิกนมแม่ ทำให้เธอเข้าใจธรรมชาติในการผลิตน้ำนมของตัวเองมากขึ้น และสามารถเลี้ยงลูกชายด้วยนมแม่ได้ เหมือนที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

คุณแม่มือใหม่หลายคนต่างสะท้อนประสบการณ์ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ว่ามีการส่งเสริมการขายนมผงในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ระหว่างการไปตรวจสุขภาพ หรือ อบรมก่อนคลอด โดยจะมีการขอเบอร์ติดต่อเก็บไว้ พร้อมทั้งแจกนมผงตัวอย่างให้กับคุณแม่ หลังจากคลอดเสร็จ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ มักจะให้นมผงกับเด็กแรกเกิด โดยระบุว่า คุณแม่ยังไม่มีน้ำนม และสุดท้ายก็จะแจกชุดของขวัญเป็นนมผงให้ก่อนกลับบ้าน ขณะเดียวกันเมื่อผ่านไป 2-3 เดือน ก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรไปพูดคุยชักชวนให้คุณแม่เปลี่ยนใจ หันมาทดลองใช้นมผงของยี่ห้อต่างๆ เช่นกัน

ตลาดนมผงของประเทศไทย มีการแข่งขันสูง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 10-15 ต่อปี โดยตัวเลขประมาณการณ์มูลค่าตลาดนมผงเด็กเมื่อปีที่ผ่านมาสูงถึง 12,000 ล้านบาท ประกอบกับข้อตกลงทางการตลาดที่ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ซึ่งไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย ทำให้ธุรกิจเหล่านี้หันมาทำการตลาดเชิงรุก โดยการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ วิถีชีวิตของคนเป็นแม่ก็เปลี่ยนไป ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น และมีค่านิยมใช้นมผงเลี้ยงลูกเพื่อแสดงความมีฐานะของครอบครัว ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับนานาชาติ

ล่าสุด องค์การยูนิเซฟสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 800,000 คน ในจำนวนนี้มีแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองเพียงอย่างเดียว เกินกว่า 6 เดือน เพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าของกรมอนามัย ที่พบว่ามีร้อยละ 14.5 ขณะที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมผงอย่างเดียวสูงถึงร้อยละ 50

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกลไกหรือกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ในช่วงปลายปี สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเตรียมจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม พร้อมผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่อไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง