สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 1) : "800 ปี แมกนา คาร์ตา"

21 พ.ค. 58
15:33
1,954
Logo Thai PBS
 สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 1) : "800 ปี แมกนา คาร์ตา"

วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215 เป็นวันที่กษัตริย์จอห์นแห่งอังกฤษลงนามในเอกสารที่เป็นข้อตกลงระหว่างบรรดาขุนนางกับพระองค์ เอกสารฉบับนี้มีชื่อว่า "แมกนา คาร์ตา" ซึ่งแปลว่ามหากฎบัตร หรือ The Great Charter ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ไทยพีบีเอส โดยการสนับสนุนของบีบีซีภาคบริการโลก แผนกภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวของแมกนา คาร์ตา และรัฐธรรมนูญไทยในอดีต ผ่านสารคดีขนาดสั้นรวม 25 ตอน ตอนที่ 1 เสนอแอนิเมชั่นเรื่อง "รู้จัก แมกนา คาร์ตา" ที่จัดทำโดยหอสมุดแห่งชาติ สหราชอาณาจักร (British Library)

นี่คือเรื่องราวที่มาของเอกสารโบราณอายุ 800 ปี ชื่อแมกนา คาร์ตา หรือ "มหากฎบัตร" อันเป็นหนึ่งในเอกสารซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก แล้วกระดาษแผ่นนี้กลายมาเป็นสัญญลักษณ์ทรงอันพลังแห่งสิทธิและเสรีภาพได้อย่างไร

แมกนา คาร์ตา ถือกำเนิดในค.ศ. 1215 เป็นครั้งแรกในโลกที่บังเกิดบทบัญญัติให้ทุกคนแม้แต่กษัตริย์ต้องเคารพกฎหมาย ต่อมาเมื่อถูกพิมพ์เผยแพร่ ก็กลายเป็นกฎหมายปฐมบทที่ทนายความอังกฤษทุกคนต้องศึกษา แต่กลับมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงความสำคัญนี้ แม้แต่เชกสเปียร์ เขียนละครเรื่องกษัตริย์จอห์น โดยไม่เอ่ยถึงแมกนา คาร์ตาเลย

ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 เหล่าทนายความอังกฤษรวมตัวกันเรียกร้องต่อกษัตริย์ชารลส์ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นถืออำนาจเหนือรัฐสภาและสั่งจำคุกผู้ต่อต้าน ด้วยแรงบันดาลใจจากแมกนาคาร์ตา เซอร์เอ็ดเวร์ด คุก เขียนฎีกาว่าด้วยสิทธิ จำกัดอำนาจกษัตริย์

ในยุคเดียวกันนี้ แมกนา คาร์ตายังได้ถูกเผยแพร่สู่อเมริกาโดยผู้อพยพชาวอังกฤษพวกแรกๆ กฎหมายของผู้ตั้งรกรากในอเมริกาได้รับแรงบันดาลใจและมีพื้นฐานจากแมกนา คาร์ตา ในช่วงทศวรรษที่ 1770 อเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพกับอังกฤษ แมกนาคาร์ตาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของอเมริกา และยังมีอิทธิพลต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนในเวลาต่อมา ในปีคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของอังกฤษ แมกนา คาร์ตาถูกใช้ในการประท้วงต่อการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ อันเป็นยุคที่ผู้คนอาจถูกกุมขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมหากวิจารณ์กษัตริย์ บรรณาธิการ จอห์น วิลกส์ ถูกจับด้วยข้อหาหมิ่นกษัตริย์จอร์จที่ 3 จอห์น วิลกส์ ใช้แมกนา คาร์ตาต่อสู้ทางกฎหมาย และกล่าวว่าเสรีภาพ มรดกเก่าแก่ของชาวอังกฤษถูกริดรอน จอห์น วิลกส์ใช้แมกนาคาร์ตาตั้งแต่โปสเตอร์ยันกาน้ำชา "กระแสแมกนา คาร์ตา" แพร่ระบาดไปทั่ว

ในยุคทศวรรษที่ 1800 ยังมีพลเมืองจำนวนไม่มากมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ เกิดการเคลื่อนไหวทั่วประเทศโดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คาร์ติส" (ชาวกฎบัตร) ได้รับแรงบันดาลใจจากแมกนา คาร์ตา ร่วมกันสร้างกฎบัตรประชาชน เพื่อเรียกร้องให้คนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีก็ได้ใช้แมกนา คาร์ตาเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันกันพลเมืองของจักรวรรดิที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองชาวอังกฤษ

"มหาตมะ คานธี" ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพให้ชาวอินเดียที่ตั้งรกรากในประเทศแอฟริกาใต้ โดยตั้งชื่อปฏิญญาที่ได้มานี้ว่า "แมกนา คาร์ตา" แห่งเสรีภาพของแผ่นดิน ขณะที่ "เนลสัน แมนเดลลา" ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ที่โด่งดังจากคอกจำเลย เชิดชูแมกนา คาร์ตา คู่กับประชาธิปไตยแบบตะวันตก อันตรงกันข้ามกับการกุมอำนาจของรัฐบาลเหยียดผิว

ในปัจจุบันอิทธิพลสูงสุดของแมกนาคาร์ตา คงไม่พ้น "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ที่มีขึ้นหลังความโหดร้ายทารุณระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบัญญัติว่า มวลมนุษยชาติต้องได้รับการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่จำกัด ความเป็นพลเมือง เชื้อชาติ  เพศ หรือศาสนา ความเชื่อ

อีเลนอร์ โรสเวลท์ กล่าวอมตะวาจาอันโด่งดังไว้ว่า "ปฏิญญานี้จะกลายเป็นแมกนาคาร์ตาของมวลมนุษยชาติ" แม้ว่าเนื้อหาดั้งเดิมยังหลงเหลืออยู่ไม่มากในกฎหมายอังกฤษปัจจุบัน มหากฎบัตรแมกนา คาร์ตายังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลกมาโดยตลอด นับเป็นมรดกสำคัญของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง