อนาคต“ออกซฟอร์ด อิงลิช ดิกชั่นนารี”กับโลกออนไลน์

Logo Thai PBS
อนาคต“ออกซฟอร์ด อิงลิช ดิกชั่นนารี”กับโลกออนไลน์

การเปิดหาคำศัพท์ในพจนานุกรมที่หลายคนคุ้นเคย กำลังกลายเป็นสิ่งพ้นสมัย เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารทุกวันนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมการเข้าถึงสื่อของนักอ่านอย่างสูง จนการมีอยู่ของหนังสือพจนานุกรมกำลังถูกแทนที่ด้วยรูปแบบออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ Oxford English Dictionary เวอร์ชั่นแรกอายุกว่า 77 ปีของห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการค้นหารากศัพท์สำหรับงานวิจัยหลากหลายสาขา แต่พจนานุกรมอันเป็นเสาหลักของโลกวรรณกรรมอังกฤษเกือบศตวรรษกำลังกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ เมื่อล่าสุด Oxford University Press เจ้าของ Oxford English Dictionary ทั้ง 2 เวอร์ชั่นประกาศเลิกพิมพ์เวอร์ชั่นที่ 3 ที่จะรวบรวมเสร็จในอนาคตนี้ เนื่องจากยอดขายของตลาดหนังสือพจนานุกรมลดลงร้อยละ 10 ทุกปีนำมาซึ่งการเสื่อมความนิยมของ Oxford Dictionary เวอร์ชั่นปัจจุบันที่สนนราคาทั้งชุดกว่า 30,000บาท สวนทางกับยอดผู้ใช้เวอร์ชั่นออนไลน์ของ Oxford Dictionary ที่แม้จะเก็บค่าบริการเป็นหลักหมื่นต่อปีแต่ก็มีจำนวนผู้ใช้บริการถึง 2 ล้านครั้งต่อเดือน สะท้อนกระแสการพึ่งพาพจนานุกรมออนไลน์ของผู้ใช้ปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

การพิมพ์พจนานุกรมภาษาอังกฤษเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1755 และถูกใช้อ้างอิงเรื่อยมาจนกระทั้ง Oxford Dictionary เวอร์ชั่นแรกวางจำหน่ายเมื่อปี 1928 แต่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอ้างอิงภาษาอังกฤษที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ Oxford University Press ก็ไม่เคยทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการจำหน่ายพจนานุกรมชุดนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคำศัพท์แต่ละปีมีไม่ต่ำกว่าล้านปอนด์
โดยอายุขัยของการพิมพ์พจนานุกรมที่คาดว่าจะอยู่ไม่เกินอีก 30 ปีข้างหน้านี้ ยังถูกมองเป็นเสียงเตือนแรกในการดำรงอยู่วงการหนังสือทั้งหมด เมื่อ ไซมอน วินเชสเตอร์ นักประพันธ์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Oxford Dictionary เผยว่า 6 เดือนก่อนเขายังเชื่อว่า การพิมพ์หนังสือคงจะอยู่คู่กับนักอ่านไปตลอดกาล จนกระทั่งการมาถึงของอุปกรณ์สำหรับอ่านอีบุ๊คอย่าง Kindle และ Ipad ทำให้เขาเชื่อว่าการพิมพ์หนังสือกำลังจะมาถึงจุดจบอย่างรวดเร็วและในอนาคตการอ่านหนังสือเล่มๆ จะกลายเป็นเพียงการฆ่าเวลาเท่านั้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง