เครือข่ายสถาปนิก-ชุมชนริมน้ำ ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการแลนด์มาร์คริมเจ้าพระยา

สังคม
21 พ.ค. 58
17:03
245
Logo Thai PBS
เครือข่ายสถาปนิก-ชุมชนริมน้ำ ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการแลนด์มาร์คริมเจ้าพระยา

ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) เสนอให้รัฐบาลทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 14,006 ล้านบาท ชี้เป็นการดำเนินโครงการที่เร่งรีบและไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและอุทกศาสตร์

พพพ. ระบุว่าแม้จะยินดีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ รวมถึงต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นภูมิสัญลักษณ์แห่งใหม่ของประเทศ แต่ภาคีฯ ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการ เนื่องจากมีความกว้างถึง 19.50 เมตร ยกสูงกว่าระดับน้ำประมาณ 2.8 เมตร และเป็นพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการนี้เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว มีกรอบเวลาการดำเนินโครงการก่อสร้างรวม 18 เดือน งบประมาณ 14,006 ล้านบาท ระยะแรกตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมระยะทาง 14 กม. และระยะต่อไปจะขยายการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่บริเวณสะพานพระนั่งเกล้าจนถึงบริเวณสะพานพระราม 7

แต่เครือข่ายสถาปนิก นักผังเมืองและชุมชนระบุว่า โครงการยังขาดความเชื่อมโยงต่อสภาพของตลิ่งที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะบริเวณวัดและชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และการวิเคราะห์งบประมาณอย่างเหมาะสม ขาดกระบวนการสำรวจความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะที่จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอรูปแบบโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ทั้งในระดับพื้นที่โดยรอบและในระดับเมืองอย่างแท้จริง

พพพ. จึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบ  รวมทั้งกำหนดกระบวนการทำงาน ตลอดจนศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งก่อนและระหว่างการทำแบบ

ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเรื่องของผังเมืองนั้นถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลสนใจลงทุนโครงการพื้นที่สาธารณะริมน้ำขนาดใหญ่และเป็นภูมิทัศน์ของเมือง แต่ยังกังวลถึงรายละเอียดข้อมูลโครงการ เนื่องจากยังไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าเหตุใดจึงต้องเร่งรีบดำเนินโครงการ ใช้รูปแบบมาตรฐานเดียวตลอดความยาว 14 กม. มีความกว้างมากเกินไป รวมทั้งไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบที่ต่อเนื่อง

นักวิชาการด้านผังเมืองระบุว่า พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลาย การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในต่างประเทศจะมีการศึกษารายละเอียดว่าแต่ละพื้นที่ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างไรให้เหมาะ จะไม่สร้างรูปแบบเดียวตลอดทั้งโครงการ

"ทำไมจะต้องรีบทำโครงการ เพราะผลเสียที่ตามมานั้นอาจแก้ไขไม่ได้ อยากแนะนำว่าเทคนิคการออกแบบนั้นไม่ได้มีแบบมาตรฐานแบบเดียว พื้นที่ริมน้ำต้องเพิ่มลูกเล่นให้มีความสนุกเป็นขนาดเล็ก-ใหญ่" ผศ.ดร.ไขศรีกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง