สมาคมตราสารหนี้ค้านมาตรการเก็บภาษี 15%

เศรษฐกิจ
12 ต.ค. 53
03:07
59
Logo Thai PBS
สมาคมตราสารหนี้ค้านมาตรการเก็บภาษี 15%

สมาคมตราสารหนี้ไทยไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเก็บภาษีกำไรจากการขายตราสารหนี้ โดยเห็นว่านักลงทุนต่างชาติอาจปรับลดน้ำหนักการลงทุนไปที่ประเทศอื่นแทน ขณะที่รมว.การคลัง เชื่อว่า มาตรการที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ จะช่วยยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้จะมีการนำเสนอมาตรการจัดเก็บภาษีนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อพันธบัตรในไทยในลักษณะของการเก็งกำไร จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมาตรการที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย การจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 สำหรับผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ และ2.การจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ในอัตราร้อยละ 15 โดยจะจัดเก็บจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปีแต่จะยกเว้นให้นักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว แต่หากพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างประเทศกลุ่มนี้ ถืออยู่ครบกำหนดแล้วยังซื้อเพื่อลงทุนต่อก็จะถูกเก็บภาษีทันที
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ มีมูลค่ารวมสูงถึง 140,000ล้านบาท ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 เป็นการซื้อพันธบัตร และ ตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
นายไพบูลย์ นรินทรางกูล เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เห็นด้วยหากรัฐบาลจะออกมาตรการ เก็บภาษีหักดอกเบี้ย ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ในตราสารหนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดค่าเงินลงได้ทันที 12 สตางค์ หรือ อยู่ที่ 30.02บาท-30.05 บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมาตรการนี้ สะท้อนถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาล เมื่อเทียบกับมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้เเก้ปัญหาเท่าที่ควร
นายไพบูลย์ ยังเสนอว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ควรส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะก่อนหน้านี้ นักเก็งกำไรค่าเงิน ประเมินกันว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงเข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สมาคมตราสารหนี้ แสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะกลับมาเก็บภาษีกำไรจากการขายตราสารหนี้ ร้อยละ 15 จากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเห็นว่าอาจส่งผลกระทบให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน หรือ ปรับลดสัดส่วนการลงทุนไปที่ประเทศอื่นแทน แต่หากมีความจำเป็นต้องชะลอการไหลเข้าของเงินทุนรัฐบาลควรใช้มาตรการนี้ชั่วคราวเพียง 6 เดือนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบมากเกินไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง