ทูตญี่ปุ่นหารือคดียิงนักข่าวเสียชีวิตจากเหตุ 10 เม.ย.

การเมือง
18 ต.ค. 53
12:01
59
Logo Thai PBS
ทูตญี่ปุ่นหารือคดียิงนักข่าวเสียชีวิตจากเหตุ 10 เม.ย.

เอกอัครราชทูตฝ่ายการเมืองญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา หารือกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์จากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากดีเอสไอ ยอมรับยังไม่มีความคืบหน้าการสอบสวน แต่ย้ำว่าได้ให้ความสำคัญกับคดีนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ได้พิจารณากรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูริ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา นายโนบุเอกิ อิโต อัครทูตฝ่ายการเมือง ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า จุดประสงค์ของสถานทูตญี่ปุ่น ต้องการทราบว่า นายฮิโรยูรนิ เสียชีวิตจากสาเหตุใด และใครเป็นคนฆ่า เพราะว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อดีตรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ให้ความสนใจในคดีนี้ เหมือนเช่นปัญหาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น เสียชีวิตที่ประเทศพม่า แต่รัฐบาลพม่า ชี้แจงว่า ไม่พบคนฆ่า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลไทย 200 เปอร์เซ็นต์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ว.ของไทยจะพบข้อเท็จจริงให้เหตุการณ์ครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม แม้เหตุที่เกิดขึ้นจะมีผู้เสียชีวิต 91 คน และบาดเจ็บกว่า 2000 คน ทำให้ตำรวจมีคดีที่ต้องสืบสวนมาก แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และรัฐบาลไทยยืนยันหลังสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่าคดีจะได้ข้อสรุปภายใน 45 และ 60 วัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

พ.ต.ท.ไพศิษฏ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการกิจการต่างประเทศ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าการสอบสวน เนื่องจากผลตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดในหลายจุดไม่พบภาพเหตุการณ์ ที่นายฮิโรยูริ เสียชีวิต รวมถึงภาพจากกล้องวีดีโอของ นายฮิโรยูริ ก็เป็นภาพปกติทั่วไป ซึ่งทางดีเอสไอ ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ในภาพถ่ายผู้ชุมนุมที่พยายามช่วยเหลือ นายฮิโรยูริ แต่ยังไม่มีพยานมาให้การ

ทั้งนี้ ดีเอสไอให้ความสำคัญกับคดีนี้ เพราะว่าเป็นที่สนใจ และผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างประเทศ จึงได้ตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ ไม่ตรงกับของ นายฮิโรยูริ แต่หากได้ดีเอ็นเอ ที่ตรงกันจะมีประโยชน์ เพราะดีเอสไอ จะสามารถจำลองเหตุการณ์ได้

ขณะที่ พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงชุลมุน ซึ่งตำรวจมีเวลาสอบสวนไม่มากนัก กระทั่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน ต้องส่งมอบคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่ทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิต และคดีนี้ต้องสอบสวนต่อ และให้นิติเวชยืนยันการเสียชีวิตอีกครั้ง

ขณะที่ พล.ต.ท.ยุทธ ไทยภักดี ส.ว.สรรหา และกรรมการฯ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษอาจไม่เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนคดีเท่าตำรวจ ทำให้คดีไม่มีความคืบหน้า และตั้งข้อสังเกตว่าพนักงานสอบสวนอาจเกรงใจรัฐบาล และทหาร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยังมีตำแหน่งในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และเป็นช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทำให้คดีมีความล่าช้า ทั้งที่เป็นคดีใหญ่ และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง