วิกฤติสาธารณสุขในพื้นที่สู้รบของพม่า

ต่างประเทศ
19 ต.ค. 53
15:48
138
Logo Thai PBS
วิกฤติสาธารณสุขในพื้นที่สู้รบของพม่า

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดซึ่งปัญหานี้สะท้อนออกมาในหลายรูปแต่ตัวอย่างที่เด่นชัดอย่างหนึ่งคือปัญหาสาธารณสุขของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของพม่าซึ่งตอนนี้เข้าขั้นวิกฤต โดยรัฐบาลทหารพม่าจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียง 30 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ศึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของพม่าได้เปิดเผยปัญหาสาธารณสุขซึ่งสำรวจจากกลุ่มชนในพื้นที่สู้รบทางภาคตะวันออกของพม่า พบว่าปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ โดย 1 ใน 7 ของเด็กเสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ขวบ นับว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก และสูงกว่าสถิติทั้งประเทศซึ่งสำรวจโดยทางการพม่า 2 เท่า โดยร้อยละ 60 เสียชีวิตจากจากโรคที่ป้องกันและรักษาได้ อัตราการเสียชีวิตของแม่ขณะคลอดสูงกว่าสถิติทั้งประเทศ 3 เท่า ขณะที่รัฐบาลพม่าจัดสรรงบประมาณด้านนี้ เพียง 1 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 30 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งการเผาบ้านเรือน การเกณฑ์ชนกลุ่มน้อยไปใช้แรงงาน เหล่านี้คือตัวอย่างของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ดังนั้นแม้จะมีการจัดการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ด้านสาธารณสุขก็ไม่น่าจะดีขึ้น

ด้านพญ.ซินเธีย หม่อง กล่าวว่าไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่มีทหารเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น ยิ่งทำให้ประชาชนเกรงว่าจะถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ ตราบใดที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป ชนกลุ่มน้อยก็จะยิ่งหนีเข้ามาในฝั่งไทย สถานการณ์คงเหมือนเดิมหรืออาจจะเลวร้ายกว่าเดิมด้วย

ขณะที่นพ.วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ นักวิจัยจากศูนย์สาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน ซึ่งสนับสนุนการจัดทำรายงานฉบับนี้ มีความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า สถานการณ์สาธารณสุขหลังการเลือกตั้งอาจจะแย่ลง เพราะงบประมาณยังเท่าเดิม และทางการพม่ายังมีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจจะกีดกันการช่วยเหลือจากต่างชาติมากขึ้นด้วย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง