เครือข่ายเภสัชกรร้องอย.เพิกถอนยารักษาผู้ป่วยเบาหวาน

สังคม
9 พ.ย. 53
07:37
103
Logo Thai PBS
เครือข่ายเภสัชกรร้องอย.เพิกถอนยารักษาผู้ป่วยเบาหวาน


เครือข่ายเภสัชกร เรียกร้องให้ อย.เพิกถอนยารักษาผู้ป่วยเบาหวานโรซิกรีทาโซนจากทะเบียนตำรับยา หลังมีข้อมูลวิจัยพบว่ายาชนิดนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยข้าราชการเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใช้ยาชนิดนี้มากที่สุดในการประชุมหัวข้อ ความเสี่ยงในการใช้ยาของคนไทยกรณีศึกษายาเบาหวาน โรซิกรีทาโซน โดย ผศ.ภก.นิยะดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ยาโรซิกรีทาโซน เป็นยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลังจากที่ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถใช้ยาเบาหวานขั้นพื้นในการควบคุมน้ำตาลได้ ซึ่งยาชนิดนี้ได้นำมาจำหน่ายในไทยตั้งแต่ปี 2542 ขณะนี้มีงานวิจัยชี้ชัดว่ายานี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยล่าสุดสำนักยาแห่งยุโรป ซึ่งมีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ได้เพิกถอนรายชื่อยานี้ออกจากตำรับยาไปแล้ว เช่นเดียวกับประเทศซูดาน อียิปต์ และอินเดีย

ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่ได้เพิกถอนยาชนิดนี้ แม้ยาโรซิกรีทาโซนจะไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะมีราคาแพงและเสี่ยงต่อความปลอดภัย แต่ยังพบว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งยังสั่งจ่ายยาชนิดนี้ให้กับผู้ป่วยเบาหวาน

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ยาโรซิกรีทาโซน มากที่สุด คือกลุ่มข้าราชการที่สามารถเบิกจ่ายยาได้อย่างเต็มที่ โดยจำนวนการสั่งใช้ยาผู้ป่วยนอกในกลุ่มข้าราชการตั้งแต่ปี 2551 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2551 พบ 29,003 เม็ด คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านบาท ปี 2552 พบการใช้ 36,121 เม็ด มูลค่า 3.7 ล้านบาท และปี 2553 มีการสั่งจ่ายยา 37,057 เม็ด เป็นมูลค่า 4 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม มีแนวโน้มการใช้ยานี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ภก.ณธร ชัยยาคุณาพฤกษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยผลลัพท์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการวิจัยความคุ้มค่าของการใช้ยา ไพโอกรีตาโซน ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่อยู่ในบัญชียาหลัก เทียบกับยา โรซิกรีทาโซน พบว่า แม้ยาไพโอกรีตาโซน จะมีราคาสูงกว่ายาโรซิกรีทาโซน แต่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่ายาชนิดนี้ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือดที่สูงกว่า จึงจัดเป็นยาที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และในแง่ความปลอดภัย

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า ได้ทำหนังสือถึงบริษัทยาชนิดดังกล่าว โดยขอให้เพิกถอนยาโรซิกรีทาโซนตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2553 แล้ว


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง