สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 2) : "มรดกที่แมกนา คาร์ตา" ฝากไว้

22 พ.ค. 58
15:11
430
Logo Thai PBS
สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 2) : "มรดกที่แมกนา คาร์ตา" ฝากไว้

เดือนมิถุนายนปีนี้ ครบรอบ 800 ปี แมกนา คาร์ตา มหากฎบัตรแห่งเสรีภาพที่ลงตราประทับโดยกษัตริย์จอห์น แห่งอังกฤษ เอกสารฉบับนี้นักประวัติศาสตร์จำนวนมากยอมรับว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญยุคปัจจุบัน ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ดังนั้น เพื่อเรียนรู้จาก 2 เหตุการณ์นี้ ไทยพีบีเอส โดยการสนับสนุนของบีบีซี แผนกภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแมกนา คาร์ตา และรัฐธรรมนูญไทยในอดีต ผ่านสารคดีสั้น 25 ตอน ตอนที่ 2 นำเสนอเรื่อง "มรดกที่แมกนา คาร์ตา ฝากไว้" ซึ่งเป็นแอนิเมชันที่จัดทำโดยหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ซึ่งไทยพีบีเอสได้รับลิขสิทธิ์เผยแพร่ต่อ

แผ่นกระดาษเก่าๆ ที่ดูธรรมดานี้ แท้ที่จริงแล้วคือเอกสารที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลกชิ้นหนึ่ง "แมกนา คาร์ตา" ซึ่งแปลว่า “มหากฎบัตร” เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษยชาติมานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่โทมัส เจฟเฟอร์สันถึงมหาตมะคานธี แล้วมหากฎบัตรนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร บัญญัติอะไรไว้ จำต้องมองย้อนกลับไปในยุคกลาง ของประเทศอังกฤษ

ในปี ค.ศ.1215 ผู้กุมอำนาจ ณ เวลานั้นคือ "กษัตริย์จอห์น" คนจำนวนมากเชื่อว่ากษัตริย์จอห์นเป็นกษัตริย์ที่เลวร้าย ทั้งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โหดร้าย และเก็บ ด้วยพมีการจับราชินีขังคุก จับฝ่ายตรงข้ามอดอาหารจนเสียชีวิต กล่าวกันว่าฆ่ากระทั่งหลานชายตัวเอง ดูหมิ่นเหล่าผู้นำชาวไอริชด้วยการดึงเครา เก็บภาษีจากเหล่าขุนนางอย่างหนักเพื่อการสงครามราคาแพงในต่างประเทศ หากผู้ใดขัดขืนก็จะถูกลงโทษรุนแรงหรือริบทรัพย์ เหล่าขุนนางจึงเรียกร้องให้กษัตริย์จอห์นเคารพกฎหมาย แต่ถูกปฏิเสธจึงบุกยึดกรุงลอนดอน บังคับให้กษัตรย์จอห์นต้องเจรจา

ทั้งสองฝ่ายเจรจากันที่ทุ่งรันนีมีดในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1215 ข้อตกลงถูกบันทึกโดยอาลักษณ์หลวง และถูกเรียกว่า "แมกนา คาร์ตา" แม้ว่ามาตราต่างๆ ส่วนใหญ่ในมหากฎบัตรกล่าวถึงสิทธิและประเพณีในยุคกลาง แต่มหากฎบัตรก็ได้กลายเป็นสัญญลักษณ์แห่งเสรีภาพไปทั่วโลก มาตราที่มีชื่อเสียงที่สุดของแมกนา คาร์ตา ยังคงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายปัจจุบัน เป็นครั้งแรกที่เสรีชนได้รับการรับรองสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม "บุคคลใดต้องไม่ถูกควบคุมหรือกุมขัง โดยไม่ผ่านการพิจารณาตามกฎหมายแผ่นดินโดยกลุ่มบุคคลที่เท่าเทียม บุคคลใดต้องไม่ถูกขาย ถูกริดรอน หรือถูกหน่วงเวลาในการใช้ สิทธิและความยุติธรรม"

แต่มาตรานี้กลับไม่ได้ถูกบังคับใช้โดยทั่วไป เพราะบัญญัติบังคับใช้แต่กับ "เสรีชน" เท่านั้น ซึ่งในเวลานั้นประชาชนส่วนใหญ่คือไพร่ติดที่ดิน ปกครองโดยขุนนาง เจ้าของที่ดิน และแม้ว่าแมกนา คาร์ตามีเป้าหมายเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์จอห์นกับเหล่าขุนนางที่ขุ่นเคือง อังกฤษกลับเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง หลังพระสันตะปาปาประกาศให้แมกนา คาร์ตาเป็นโมฆะ กระทั่งกษัตริย์จอห์นสิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดในปี ค.ศ.1216 และรัชทายาทพระชนม์ 9 ชันษา กษัตริย์เฮนรีที่ ๓ ขึ้นครองราชย์ เพื่อเป็นเครื่องมือรักษาความสงบ แมกนา คาร์ตาจึงถูกนำมาปรับแก้และบังคบใช้อีกหลายครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 13

แมกนา คาร์ตาทรงอิทธิพลตลอด 800 ปีที่ผ่านมา ส่งผลสะท้อนในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มรดกสำคัญที่สุดจากมหากฎบัตรนี้คงเป็นหลักคิดที่ว่า "ทุกคน รวมทั้งผู้มีอำนาจปกครองต้องเคารพกฎหมาย" อันถูกริเริ่มเรียกร้องไว้โดยเหล่าขุนนาง เจ้าของที่ดิน จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพที่เราหวงแหนที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง