นายกฯเผยให้ความสำคัญการศึกษา-ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก

การเมือง
22 พ.ค. 58
17:00
153
Logo Thai PBS
นายกฯเผยให้ความสำคัญการศึกษา-ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยออกมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองด้วยการจัดงบประมาณอุดหนุนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งสายอาชีพ พร้อมตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 13,000 ราย โดยจะร่วมมือภาคเอกชนสนับสนุนงบประมาณ 1 ใน 3 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เตรียมผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กล่าวใน "รายการคืนความสุขให้คนในชาติ" ประจำวันที่ 22 พ.ค.2558 โดยมีเนื้อหาว่า สัปดาห์นี้โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศก็เริ่มเปิดภาคเรียนแล้ว การศึกษานั้นผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลนี้ได้ให้การสนับสนุนดูแลมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นก็ได้มีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งสายอาชีพด้วย ซึ่งรวมความไปถึงค่าจัดการเรียนการสอนค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุดต่อปี แล้วค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสำหรับกิจกรรมลูกเสือ, เนตรนารี, ทัศนศึกษา, คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


นายกฯยินดีเยาวชนไทยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ขอแสดงความชื่นชม และยินดีกับเยาวชนไทยที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือ “ไอเซฟ” ที่จัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทยในเรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสัตวศาสตร์ ผลงานนี้พัฒนาโดย 1.นายนัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร, 2. นายธนานนท์ หิรัณย์วาณิชชากร และ 3. น.ส.สุทธิลักษณ์ รักดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ความจริงเยาวชนของคนไทยนั้นส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 5 รายการ และประสบความสำเร็จโดยคว้ามาได้ถึง 9 รางวัลในรายการนี้ ขอแสดงความยินดี และชื่นชมทุกคนตั้งแต่ตัวเยาวชนเอง อาจารย์ ผู้ปกครอง รวมถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ความสำเร็จครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของลูกหลานเยาวชนไทย ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ไม่ว่าจากทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชน นำไปขยายผลจนนำไปสู่ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เชิงพาณิชย์ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต เป็นภูมิปัญญาของลูกหลานของเราเอง ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นต่างเริ่มจากจุดนี้ เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด ช่วยกันพัฒนาให้สามารถที่จะก้าวทันประเทศอื่นๆ หากเรายังคงใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากต่างประเทศมาทั้งหมดนั้นแล้วไม่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ เราก็คงจะเป็นผู้ตามอารยประเทศอยู่ร่ำไป แล้วก็ต้องจัดหาซื้อมาต่างๆ ซึ่งมีราคาสูง เราต้องเร่งการผลิตให้ได้ จากผลการวิจัยและพัฒนา ซึ่งได้เรียนไปหลายครั้งแล้ว  

 

รัฐบาลหนุนแนวทางพัฒนาประเทศผ่านนวัตกรรม

รัฐบาลให้ความสำคัญในแนวทางดังกล่าวนี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีมาตรการสำคัญในการที่จะนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อาทิ เช่น ด้านนวัตกรรมก็ประกอบไปด้วยการขึ้นบัญชี นวัตกรรมไทย, การใช้ตลาดภาครัฐนำร่องเปิดตลาดให้กับสินค้าบริการนวัตกรรมของไทย, การให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อสินค้า บริการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ได้รับ อันนี้จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานของเราเองก่อน แล้วก็ไปผ่านมาตรฐานต่างประเทศ ในระยะต่อไป ใช้ในประเทศให้ได้ก่อน

 

ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 13,000 ราย 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ด้านการสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ก็ดำเนินการโดยการขยายผล โครงการที่ปรึกษาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ประกอบการในการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิค ซึ่งตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการประมาณ 13,000 ราย รัฐก็จะร่วมมือกับภาคเอกชน จะร่วมสนับสนุนงบประมาณ 1 ใน 3 ประมาณ 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดผลดีต่อ SMEs ทั้งในเรื่องของการเพิ่มกำไร ลดต้นทุน การเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในเรื่องของการเพิ่มการลงทุน การจ้างงาน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาทภายใน 6 ปี

สำหรับด้านแหล่งเงินทุน ก็มีการจัดตั้งกองทุนที่จะระดมเงินร่วมลงทุนในลักษณะ ฟันด์ ออฟ ฟันด์ (Fund of Funds) โดยจะลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนที่จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัย, สถาบันวิจัย, เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ แล้วก็การจัดตั้งที่เกิดจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยด้วย

ในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจ SMEs นั้นผมทราบดีว่ามันมีธุรกิจหลายอย่างด้วยกัน เราก็จำเป็นต้องส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ ทุน งบประมาณต่างๆ ที่สนับสนุน แต่ข้อสำคัญคือทุกคนต้องเข้ามาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย เราจะได้รู้ว่าเราจัดระเบียบของท่านได้ จัดความต้องการของท่านได้ และจัดการสนับสนุน หรือจัดสิทธิประโยชน์ให้กับท่านได้ ถ้าไม่มาขึ้นทะเบียน ไม่มาติดต่อกันเลย เราก็ไม่สามารถจะสนับสนุนได้อย่างทั่วถึง จะได้พิจารณาได้ว่าจะใช้งบประมาณอย่างไร ใช้วิธีการอย่างไร อันนี้ก็ได้ให้ สสว.ไปติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว

เรื่องของการบริหารจัดการภาครัฐนั้น เราจะเน้นบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ในทุกมิติ เข้าใจดีว่าวันนี้ รัฐนี่มีข้าราชการจำนวนมากพอสมควร แต่วันนี้ ถ้าเราบอกว่าต้องลดข้าราชการเลยที่เดียว มันคงอาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะวันนี้เรามีข้าราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นก็เป็น อบท.เหล่านี้ แล้วก็ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนต้องเข้มแข็งให้เห็นก่อน ถ้าเห็นก่อนนี่เราก็สามารถจะลดลงได้นะครับ ไปส่งเสริมภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แล้วรัฐก็ถอยหลังมาเป็นผู้กำกับดูแล ผู้อำนวยความสะดวก ทางด้านกฎหมาย ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านอะไรต่างๆ เหล่านี้ ผมว่ามันจะเร็วขึ้น

 

นายกฯยืนยันขอทำงานก่อนปฏิรูประบบราชการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้ผมเข้าใจดี การจะปฏิรูป ลดหน่วยงาน ลดข้าราชการ ผมอยากให้ไปทำในขั้นตอนการปฏิรูปนะครับ วันนี้ผมอยากให้ทำงานขณะนี้ให้ได้ก่อน แก้ปัญหาให้ได้ก่อน แล้วเดินหน้า ขั้นต้นของการปฏิรูปให้ได้ก่อน ส่วนภาคประชาสังคมก็ต้องมาช่วยกัน อย่าเพิ่งมาขัดแย้งกันเลยในขณะนี้ ผมเข้าใจถึงความห่วงใยของทุกภาคส่วน ต้องเข้มแข็งก่อนจะไป อบท.แล้วก็ในส่วนภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ถ้าท่านคิดเหมือนกัน ตรงกัน จัดกลุ่มได้แล้วเราจะเดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าอย่างนี้ จัดกลุ่มกันมา ผมจะได้รู้ว่าทั้งประเทศนี่มันเข้มแข็งสักแค่ไหน วันนี้ก็ผมได้ยินแต่ข้อความห่วงใยอะไรต่างๆ แต่ท่านก็ต้องพูดถึงกลุ่มของท่านเองด้วยว่าท่านพร้อมแค่ไหน อย่างไร อย่าหวังแต่เพียงให้รัฐไปสนับสนุนอย่างเดียวมันคงไปไม่ได้ทั้งหมด

 

กำหนดตลาดแรงงานรองรับก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

ในส่วนของการบูรณาการร่วมกันนั้น อาทิเช่น กระทรวงแรงงาน วันนี้ต้องกำหนดตลาดแรงงาน ความต้องการแรงงานเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แล้วก็เตรียมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วก็แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องระมัดระวัง การเตรียมแรงงานต้องเพียงพอ 2. คือไม่เกินจนเกินไป 3. ไม่มีคนมาใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ในเรื่องของการค้ามนุษย์ด้วย เก็บแรงงานไว้เยอะๆ แล้วเอาไว้ส่งบริษัทโน้น บริษัทนี้ ต้องไม่เกิดขึ้น มันเข้าผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ด้วย การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จดทะเบียนขั้นต้นแล้ว แล้วก็ยังไม่ครบ 1 ปีก็ย้ายไปที่อื่นเหล่านี้ มันเป็นการทำให้เกิดความสับสน วุ่นวายในระบบ ผมได้ย้ำกระทรวงแรงงานไปแล้ว  

เรื่องของกระทรวงศึกษา เราก็ต้องพร้อมในเรื่องของการผลิตแรงงานที่มีฝีมือในระดับหัวหน้า หรือะไร ที่จะขับเคลื่อน สั่งการ รับคำสั่งเป็นภาษาต่างประเทศได้ เพื่อจะป้อนภาคการผลิต หลายส่วนนะครับ 7-8 กิจกรรมในการที่เรามีความพร้อมในการเข้าสู่อาเซียน มีกิจกรรมที่เรามีศักยภาพอยู่หลายอย่าง เราต้องป้อนโครงการเหล่านี้ด้วย

ในส่วนของกระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม เราก็ต้องกำหนดปริมาณความต้องการผลผลิตนะครับ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ในการหาตลาดระบายสินค้าทั้งภายใน และต่างประเทศ กระทรวงไอซีทีสนับสนุนทุกกระทรวงในด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งกระทรวงการคลังต้องสนับสนุนในเรื่องแหล่งเงินทุน

 

ในเรื่องของการที่จะให้ทั้งระบบมีการ บูรณาการต่อเนื่องกันได้นั้น ผมอยากจะให้มองอาทิเช่น ผลิตผลการเกษตรนี่ เรามองในเรื่องราคาอย่างเดียวมันคงไม่ได้ เพราะราคามันปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในตลาด ในตลาดโลกด้วย ในระดับอาเซียนด้วย เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะให้ทุกคนคำนึงถึงว่าเรากำหนด “ดีมานด์” กันหรือยังว่ามีความต้องการอย่างไร แค่ไหน ในประชาคมโลกอื่นๆ นะครับ ไกลๆ อันที่ 2 คืออาเซียนด้วยกัน อันที่ 3 ใช้ในประเทศ อันที่ 4 ใช้ในชุมชน ถ้าเรากำหนด 4 อย่างนี้ได้ มันก็คือคำตอบว่า ท่านจะผลิตเท่าไร คือเขาเรียกว่า “ซัพพลาย” นะครับ ซัพพลายเอ้อนี้ต้องทำให้สอดคล้องกับดีมานด์ที่มีทั้งใน และนอกประเทศ ถ้ากำหนดหัวท้ายไว้อย่างนี้ ตรงกลางก็เป็นกระบวนการ กระบวนการตรงนี้ก็มีทั้งในส่วนของชุมชน ประชาชน สหกรณ์ นี่คือในชุมชนที่ประชาชนอยู่อาศัยกันเอง มีทางเลือกให้เขา อันที่ 2 ก็คือในระดับที่เป็นภูมิภาค หรือเป็นจังหวัด เป็นอะไรนี่มันก็เชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ในกลุ่มจังหวัด ถ้าหาตลาดร่วมกัน ต่อไปก็ส่งไปสู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังจะจัดตั้งอย่างเร่งด่วนนี่นะครับ แล้วก็ไปสู่ประชาคมอาเซียน

 

สภาพัฒน์ฯรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจนั้น สภาพัฒน์ฯ รายงานว่า ไตรมาสแรกปี 58 มกราฯ ถึง มีนาฯ 58 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3 ก็เป็นตัวเลขที่เราประมาณการจากการใช้จ่าย แล้วก็นำเข้า ส่งออก อะไรทำนองนี้ หลายตัวอย่างมาประกอบกัน ก็ประเมินไว้อย่างนั้น เป็นตัวเลขที่เป็นการประมาณการทั้งสิ้น คาดว่า ร้อยละ 3 จะเพิ่มมากกว่านี้ ลดกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเราเองด้วย รัฐก็พยายามเต็มที่ ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย เราบังคับตัวเลขตรงนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้มแข็งพอ มันก็ขึ้นไปไม่ได้มากกว่านี้ ถ้ามันมีมาตรการความเสี่ยงอย่างอื่นขึ้นมาอีก ปัจจัยภายนอกเข้ามาอีก มันก็ลดลงกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่เราบังคับไม่ได้ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมไว้ อย่างไร มีมาตรการชดเชยไว้อย่างไรต้องคิดไว้ล่วงหน้าทั้งหมด ตอนนี้รัฐบาลก็สั่งการไปอย่างนั้น

ในการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นเป็นร้อยละ 3 ในไตรมาสแรกนั้น ก็เนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชน แล้วก็การลงทุนภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่จะทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดอยู่แล้ว การลงทุนภาครัฐนี่มันอยู่ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน การท่องเที่ยว ช่วงนี้ก็เจริญเติบโตดี มีคนมาเที่ยว วันนี้ผมเห็นคนมาเยอะไปหมดเลย แถวๆ ทำเนียบบ้าง แถวพระที่นั่งอนันต์ฯ บ้างแถววัดพระแก้ว พระที่นั่งจักรี นี่เยอะแยะไปหมด คนเดินกันเต็มไปหมดเลย แสดงว่าเขาเกิดความเชื่อมั่นในสถานการณ์ในเมืองไทยแล้ว ก็ต้องช่วยกันรักษาไว้ อันนี้ก็เป็นผลจากที่รัฐบาลได้พยายามเร่งรัดทุกอย่าง ตั้งแต่การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วงที่ผ่านมา การสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ ความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน แล้วก็ต่างชาตินะครับรู้สึกมั่นใจในการดำเนินการธุรกิจ ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปตามปกติ ก็ต้องแก้ปัญหากันไป เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจนี่มีความผันผวนตลอดเวลาเหล่านี้ วันนี้ นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น นำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น การจ้างงานก็เริ่มดีขึ้น ในเดือนเมษาฯ 2558 นี้มีการจ้างงานอยู่ที่ 37.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 นะครับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อันนี้เป็นผลงานที่เราได้ทำกันร่วมกันมานะครับทั้งรัฐ และประชาชน

 

ยอมรับประเทศไทยยังมีปัญหาทางโครงสร้างจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะแยะ ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแก้ไขอีกนานพอสมควร ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม ต่างๆ เหล่านี้ ภาคธุรกิจก็ต้องมาช่วยกันนะครับ เพราะว่าเราพึ่งพาการส่งออกสูงกว่าร้อยละ 73 แล้วสินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นด้านการเกษตรทั้งสิ้น ในรายได้ทั้งหมด 70% แล้วก็เป็นเรื่องธุรกิจ SMEs ด้วย ซึ่งเรายังเข้มแข็งไม่เพียงพอนัก รัฐบาลเร่งรัดมาปีหนึ่งแล้ว ปีนี้ก็จะเร่งต่อไป คราวนี้ประเทศคู่ค้าของเราหลายประเทศทั้งในอาเซียน ในประชาคมโลกต่างๆ นั้นยังคงประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ในประเทศของตน ทำให้ภาคการส่งออกของเรานั้นได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันภาคการเกษตร เป็นอาชีพหลักคนไทยกว่า 23 ล้านคน ร้อยละ 37 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นคิดเป็นมูลค่าเพียง 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เท่านั้น

แสดงว่าราคาผลผลิตการเกษตรตกลง ถึงแม้จะขายได้มากราคามันตก เพราะเราถูกควบคุมด้วยกฎกติกา ด้วยพันธสัญญาต่างๆ มากมาย การลดสิทธิประโยชน์ ภาษี อะไรต่างๆ เราเป็นประเทศปานกลางนะครับ รายได้ปานกลาง ก็ถูกปรับลดหมด เพราะงั้นราคามันตกลงแน่นอน เราต้องสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ แล้วจะปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างไร เราต้องคิดตรงนี้ เป็นเรื่องระยะยาว ส่งเสริมควบคู่กันไปด้วยกับการลงทุนในด้านอื่นนะครับ เพื่อให้เกษตรกรไทยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วก็มีคุณค่ากับประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถจะพึงพาตนเองได้ มีความสุข รายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซี่งเราก็ได้วางแนวทางไว้หลายๆอย่างนะครับไว้ดูแลพี่น้องเกษตรกร

 

เตรียมจัดสรรที่ดินทำกินให้เหมาะสม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผมได้พบเกษตรกรมาหลายครั้ง ให้เวลาเขามากนะครับ ในการพบปะแต่ละครั้ง เราได้ช่วยเขาหรือวางแผนเขา เช่นในเรื่องของการจัดสรรที่ดินทำกิน แก่เกษตรกร ที่ไร้ที่ทำกินให้เหมาะสม ประเทศไทยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรซะ 147 ล้านไร่ เพราะงั้นก็เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะงั้นต้องมีการดูแลการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม ให้มีการทำการเกษตรเป็นหลักเป็นแหล่ง สร้างชุมชนในชนบทให้ได้ เพื่อจะลดภาระในเรื่องของการจัดสร้างสาธารณูปโภค ไปท้องไร่ท้องนาทั้งหมด หรือจัดน้ำ อุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรมันต้องจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด วันนี้เราก็เริ่มต้นได้เท่านั้นเอง 

ในส่วนของการส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์และปริมาณน้ำในพื้นที่วันนี้ต้องยอมรับว่าพื้นที่เกษตรอยู่ในเขตชลประทานนั้นครอบคลุมเพียง 30 ล้านไร่ ประมาณแค่ 20% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด เมื่อกี้นี้ 147 ล้านไร่ มีแค่ 20% แล้วเราก็พยายามจะเร่งรัดให้ได้ 40 พอ 40 ไปแล้วอีก 60 ที่เหลือจะทำยังไง มันก็ต้องโซนนิ่ง พื้นที่การเกษตรชัดเจน รวมถึงการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรน้ำด้วย แต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม ทั้งในเขต และนอกเขตชลประทาน ด้วยการปลูกพืช ด้วยการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม อันไหนไม่ได้ก็ต้องไปปลูกอย่างอื่น ทำอย่างอื่น เลี้ยงสัตว์บ้าง นะหรือไปทำอะไรอย่างอื่นที่เป็นห่วงโซ่กันนะ ไปผลิตปุ๋ย อะไรเหล่านี้ เพื่อจะดูแลกัน พวกเรากันเอง ในสหกรณ์ต่างๆ ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น แล้วก็เป็นห่วงโซ่กันกับธุรกิจ ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ แล้วก็มีการพัฒนาจากสหกรณ์ไปเป็น SMEs นะ เป็นบริษัท เล็กน้อย ต่อไปเป็นเถ้าแก่ใหม่ ทำนองนี้นะ มันต้องคิดในภาพรวมต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน พี่น้องเกษตรกรก็ต้องอดทนๆ ผมก็พยายามจะดูแลให้ดีที่สุด

ในเรื่องของการดูแลค่าลดต้นทุนการผลิตนะครับ ผมดูแล้วหลายอย่าง เมล็ดพันธุ์ก็แพงนะ 2. คือเรื่องปุ๋ยแพง 3. ที่แพงมีปัญหามากที่สุดคือการเช่าที่ดินทำกิน ผมเข้ารายละเอียดไปแล้วปรากฏว่าได้มีการเช่านา หรือเช่าที่ทำกินโดยที่ไม่ได้ทำสัญญา ส่วนใหญ่จะไม่ทำกัน เพราะว่าขึ้นอยู่กับผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่ามักจะไม่ทำสัญญาแล้วก็ถ้าหากว่าชาวนาชาวไร่ไม่จ่ายค่าตอบแทนไปตามที่เขากำหนดมา เขาก็ไปให้คนอื่นทำ นี่คือสิ่งที่เหมือนกับมัดมือชกกันอยู่ ผมจะให้ไปดูรายละเอียดตั้งแต่ครอปนี้เป็นต้นไป แล้วก็จะต้องมีกฎหมายมีอะไรสักอย่างที่จะกำกับดูแลให้เป็นไปตามนี้ว่าการเช่าที่นั้นต้องทำสัญญาทั้งสิ้น ในสัญญานั้นก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะทำยังไง ทั้งผู้ให้เช่า แล้วก็ผู้เช่า ต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่ายให้เกิดความสมดุลกัน ไม่งั้นเขาก็ไม่อยากให้เช่า เขาให้ออกก็ไม่ออก ต้องแจ้งล่วงหน้ากี่เดือน 6 เดือนก่อนไหม อะไรทำนองนี้ แล้วก็กำหนดค่าเช่าให้มันเป็นธรรม ที่ไหนมีน้ำ ที่ไหนไม่มีน้ำ ผมทราบว่าบางเจ้านี่ให้เช่าที่นานี่ค่าตอบแทนเป็นผลผลิต เช่น 1 ไร่ข้าวกี่ถัง ข้าว 25 ถังแล้วก็ถ้ามันปลูกไม่ได้หรือว่าน้ำแล้ง ฝนมากน้ำท่วม ก็จ้องจ่าย 25 ไร่ ตลอดไปอย่างนี้มันไม่เป็นธรรมนะ ขอร้องนะครับเจ้าของที่ต่างๆ ทั้งหมดช่วยกรุณาดูแลด้วยสงสารคนจนนะ สงสารชาวไร่ชาวนา  

 

มติ คทช.ลดค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎร

สัปดาห์นี้นะครับได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้มีมติอนุมัติลดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎร เดิมนั้นไร่ละ 50 บาทต่อปี เหลือไร่ละ 25 บาทต่อปี  ลดไปตั้ง 50%  ก็วัตถุประสงค์มุ่งหวังคือให้ทุกคนทำให้ถูกกฎหมาย มีสัญญาให้เรียบร้อย อย่าไปบุกรุกที่ดินมันจะได้ไปขายได้ รับซื้อได้ต่อไป ถ้ามันไม่อยู่ในเขตเอกสารสิทธิ์นะ มันลำบากนะมันก็ ดีมานด์เท่าเดิม ซัพพลายมากขึ้น ทั้งในที่มีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ นี่มันทำให้เกินไปมากๆ แล้วราคามันก็ตกหมดน่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางในเวลานี้ เกินเป็นล้านไร่นะ กำลังแก้อยู่ปีนี้น่าจะได้ซัก 400,000 ไร่มั้งที่จะลดลงไป มันก็จะทำให้ราคาดีขึ้น แต่ก็เป็นห่วงประชาชนที่มีรายได้น้อย ทีบุกรุกเข้าไปนะ ก็จะหามาตรการดูแล ในส่วนของนายทุน รีบๆ ออกมามอบคืนซะโดยเร็ว มีความผิดทางกฎหมายทุกอย่าง

ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมป่าไม้ได้ดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ แล้วให้มีการจัดทำแปลงเพาะชำกล้าไม้นะครับแล้วก็ปลูกป่าทดแทนด้วย ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีศูนย์เพาะพันธุ์ไม้ในชุมชน ในตำบล หมู่บ้านอะไรก็แล้วแต่ กรมป่าไม้ก็จัดหาเมล็ดพันธุ์ และงบประมาณที่เหมาะสมนะ แจกจ่ายให้ราษฎรในพื้นที่เขาจะได้ดูแลกันเองนะ สร้างศูนย์เพาะชำของเขาเอง ปลูกเองดูแล รัฐก็หาเงินทองให้เขานิดหน่อย ผมว่ามันก็จะดีขึ้นนะ อย่าหวังว่ารัฐจะทำคนเดียว แล้วก็มันก็เป็นบ่เกิดของความไม่ไว้วางใจ การทุจริตอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด ท่านต้องดูแลกันเองให้ได้ ท่านเข้มแข็งพอแล้วรัฐก็จะค่อยๆ ลดจำนวนคน จำนวนหน่วยงานลงไป แล้วก็ทุกคนมาช่วยกันซิครับ วันนี้ถ้ายังไม่เข้มแข็ง รัฐบาล กับข้าราชการก็ต้องอยู่อย่างนี้ไปก่อน ท่านต้องแสดงความเข้มแข็งให้ได้ภายในปี 2 ปี นี้ให้ได้ถ้าเป็นอย่างนั้นค่อยว่ากัน การไปสู่การกระจายอำนาจกัน ผ่องถ่ายการใช้งบประมาณต่างๆ นะ ซึ่งรวมความถึงการเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพด้วย บางที่ท้องถิ่นเหล่นนี้ วันนี้อัตราภาษี เราก็ต่ำที่สุดในอาเซียนมั้งครับ ในขณะนี้ หลายท่านก็เป็นห่วงว่ารายได้เราจะมาจากไหน นี่ไงครับถ้าเราไม่สร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น การเก็บภาษีก็น้อยลง แล้วอัตราภาษีเราก็ต่ำที่สุดในขณะนี้นะ แล้วมันจะไปกันยังไงไปคิดให้มันครบระบบ ถ้าติติงบางเรื่องมันก็ไปไม่ได้อยู่ดี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งก็สหกรณ์ ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่นั้น เราต้องลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง หรือบริษัทต่างๆ ที่ผลิตออกมาในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องต้นทุน โดยการต้องช่วยกันทำ ช่วยกันรวบรวมจำหน่ายสินค้า รวมความถึงให้สหกรณ์เป็นแหล่งศูนย์กลางรวบรวมปัจจัยการผลิตนะครับทั้งปุ๋ย เมล็ดพันธ์ วันนั้นผมไปดูแล้ว เขาก็ช่วยตัวเองกันหลายสหกรณ์แล้วนะ มีความเข้มแข็งขึ้นมีการผสมปุ๋ยใช้เองให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีหน่วยงานไปตรวจสอบ ไปผลิตทั้งปุ๋ยเคมีบางอย่างก็จำเป็นอยู่ บางพื้นที่ก็ลดลงที่มันทำให้ดินเสีย แต่มันต้องใช้ไปก่อน แต่เพิ่มสัดส่วนของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น แล้วันหน้าก็ลดทั้งหมด ก็ต้องไปอย่างนั้นก่อนนะ อันไหนที่ลดได้เลยก็ลดไปเลย อันนั้นเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวสุขภาพ ปลูกข้าวอินทรีย์นะ ทำนองนี้ ก็ต้องทำให้ได้ มันจะได้เพิ่มราคามูลค่าสินค้า เราต้องการช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้ ถ้าท่านในพื้นที่ยังอยู่ไม่ได้ ขายไม่ได้ ราคาไม่ดี รายได้ท่านได้น้อย พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบอีก ส่งไปขายต่างประเทศราคาตกอีก ตามตลาดโลกอีก มันก็มีปัญหาหมด เพราะงั้นถ้าเราสามารถทำได้ พึ่งพากันเองนะ แลกเปลี่ยนกันเอง ขายกันเอง แบ่งปันกันบ้าง นะ แล้วก็สร้างความเข้มแข็งรวมกลุ่มจากสหกรณ์กลายเป็นธุรกิจ SME ก็ได้ เป็นบริษัทขึ้นมาก็ได้ วันนี้ก็เป็นเรื่องของการ พี่จูงน้อง เพื่อนเดินไปกับเพื่อน ไปหามาซิครับสร้างกลไกเหล่านี้ เกิดมาให้ได้ SME วันนี้ถ้าไม่จดทะเบียน ก็ลำบากนะ เหมือนกับสหกรณ์นี่มี 7, 6 อย่างมั้ง 6 อย่างตามแนวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่ 6 อย่างมีความแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ผลิต ขาย จำหน่าย ออมทรัพย์ มีหมดนะ วันนี้ต้องไปปรับให้เข้าที่เข้าทางผมสั่งกระทรวงเกษตรไปแล้ว ขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวเกษตรกรด้วย สร้างความเข้มแข็ง

เราก็ต้องส่งเสริมให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ช่วงนี้มีงานอยู่ที่เมืองทองนะครับ เป็นการพบปะระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ผลิต การนำเข้าการส่งออกมีหลายประเทศที่มาดูงานถือว่าเป็นงานอันดับ 4 ของโลกนะครับ ให้ไปดูกันหน่อย เสาร์ - อาทิตย์ นี่ วันธรรมดาเขาจะให้ผู้ประกอบการไปเจอกัน เสาร์ -อาทิตย์ นี่เขาขาย จำหน่ายปลีกด้วย อยากให้ไปดู จะได้ภูมิใจเหมือนผมภูมิใจ เรามีบริษัท ทั้งใหญ่ ทั้งกลาง ทั้งเล็ก มากมายแล้วก็ผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นขายได้เป็นหลายหมื่นล้าน ในต่างประเทศ จะได้ไปดูนะครับ แล้วอะไรที่เล็กๆ อยู่ที่ยังไม่พร้อมก็ไปดูเขาซะบ้างว่าเราจะต้องปรับปรุงตัวเองยังไง ไม่ใช่ทุกคนก็ร้องหมด ไอ้นี่ ไอ้นั่น จะเอาเงินไปลงทุน แต่ถ้าท่านไม่ได้ดูความพร้อมของท่าน ไม่ได้ วันนี้หลายๆ อย่างนี่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว ในการรับรองเงินกู้อะไรต่างๆ บสย. บ้าง อะไรบ้าง แต่ตัวเลขต่างๆ บางที่ท่านต้องดูตัวของท่านเองด้วยว่าท่านมีความพร้อมแค่ไหน ท่านมีศักยภาพแค่ไหน นะ ถ้าท่านต้องการตัวเลขเดียวกันหมดนะครับ มันก็ไม่ได้มั้ง นะ มันก็จะเอาเงินไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉกอีก นั่นแหละ เพราะงั้นผมต้องจัดระเบียบให้ได้ ท่านต้องเข้ามาหารัฐ รัฐก็จะไปจัดระเบียบให้ท่านว่าท่าอยู่ในเกณฑ์ ไหน ควรจะเป็นวงเงินเท่าไร ควรจะช่วยเหลืออะไรบ้าง เหล่านี้นะครับเป็นเรื่องของการพัฒนาทางด้านการเกษตร แล้วก็การค้าขายทั้งในชุมชน ในท้องถิ่น ในภูมิภาค ในชายแดน  นะครับ แล้วก็ประชาคมต่างๆ นะครับ

 

แนะเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณตัวแทนพี่น้องเกษตรกร ที่ผมพบมานี่หลายครั้งที่ผ่านมาที่เข้าใจความตั้งใจขอภาครัฐ แล้วเขาก็ชื่นชม เขาก็บอกว่าถ้ารัฐบาลทำแบบนี้มา เขาไปได้แน่นอน ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับการสอนแบบนี้นะ ก็แก้ปัญหาเป็นครั้งๆไป อันนี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องไปตัดสินใจเอาเองว่าท่านต้องการแบบไหนที่จะยั่งยืน ต้องคิดเป็นแล้ว ต้องคิดเองต้องศึกษาบ้างฟังบ้างแล้ก็ปรับตัวเองให้ได้ อย่าไปคิดแต่เพียงว่าราคาอย่างเดียว ราคานี่มัน แวรี่ ไปตามสถานการณ์โลก สถานการณ์ตลาดโลก แต่สิ่งที่ท่านจะช่วยกันได้ คือการลดต้นทุนการผลิตนั่นแหละ ราคามันจะต่ำ แต่ถ้าต้นทุนมันต่ำนะมันก็ยังไงมันก็กำไร ยังไงมันก็อยู่ได้นะ อย่าไปมองว่าราคาต้องอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีมันไม่ได้ขอรัฐจำนำ ขอรัฐประกันราคา แล้วมันจะไปขายใครล่ะ เป็นภาระ คลังเก็บเสื่อมสภาพเข้าไปอีกนะ แล้วมันก็เสียหายต่อประเทศโดยรวม ก็มีผลเรื่องการทุจริตผิดกฎหมายอะไรเข้าไปอีก วุ่นวายไปหมดนะ เพราะงั้นต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งตัวเองมีการเก็บในยุ้งฉางเองบ้างหรือเก็บไว้ในคลังของสหกรณ์บ้างอะไรบ้าง รัฐรับผิดชอบไม่ไหวนะ ต้องคลี่คลายตรงนี้ เพราเราไม่ต้องการผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะงั้นผมไม่คิดว่าเอ๊ะเราจะไปบวกลบตรงไหน กันตรงไหน  จะให้รัฐบาลตรงไหน หรือใคร ไม่ใช่เลยนะ ไม่มี

ขอขอบคุณนะครับที่ทุกคนจะช่วยกันแก้ปัญหาระยะยาวนะ พี่น้องเกษตรกรหลายท่านมีการรวมกลุ่มกันแล้วนะครับช่วยเหลือ ร่วมมือภาครัฐ เข้าไปหาศูนย์เกษตรกรที่จังหวัด มีอยู่ 882 ศูนย์ เข้าไปแล้ว อันนี้ผมให้ไปตั้งอยู่ในหมู่บ้านตำบล ที่มีผลผลิต มีผลผลิตให้เห็นแล้วยังไงจะได้ไปดูกัน แนะนำกัน ไปเรียนแบบเอาไปทำที่บ้านนะตรงไนที่ยังปลูกอยู่พัฒนาให้ดีขึ้น ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ตรงไหนที่ไม่ดีก็ไปดูที่เขาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เป็นอะไร ราคาเท่าไร อยู่ได้ไหมนะ ทุกคนทำนาทำไร่แล้วมีที่เล็กน้อย เพียง 5 ไร่ 10 ไร่ มันก็ลงทุนแพงไปหมด ต้องรวมกลุ่มนาให้ได้ อย่างน้อยก็ 100 ไร่ ขึ้นไป รัฐบาลก็พยายามจะช่วย ได้มีการประชุมหารือกันหลายครั้งนะ ทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะยาว การช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ทั้งปุ๋ย ทั้งในเรืองของค่าเช่าที่นา ต้องเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในปีนี้ ผมขออนุญาตสั่งการทุกกระทรวงไปที่เกี่ยงข้องนะครับแล้วก็ สำหรับในเรื่องของการช่วยเหลืออีกอันก็คือการช่วยเหลือจัดหาเครื่องไม่เครื่องมือทางการเกษตรที่ทันสมัย อาจจะต้องไปอยู่กับกรมพัฒนา หรือกรมพัฒนาของทหารช่วยดูแลเป็นมอเตอร์พูล แล้วก็ไปช่วยร่วมมือกับท้องถิ่น กับกระทรวงมหาดไทย การที่จะไปดูที่รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ เป็นแปลงเกษตรใหญ่ๆ  จะได้ปรับราคาให้เท่าเทียมกัน แล้วก็ไปทำให้คนที่รับจ้างไถ รับจ้างทำอยู่แล้ว เข้ามาร่วมมือกันตรงนี้ ราคามันก็เท่าเทียมกัน เป็นธรรม อย่าไปรีดเลือดกับปูกันอีกเลยนะครับ ชาวบ้านก็ลำบากพออยู่แล้วนะ เห็นใจเขาบ้าง   

 

รัฐบาลเน้นลดการผลิตยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการประชุมเกี่ยวกับเรื่องยาง ก็น่ายินดีที่ตอนนี้ยางก็ราคาขึ้นพอสมควร ก็ไม่มากมายนัก ก็ 50 ขึ้นไป 55, 56, 57 ก็เป็นระยะเวลาหนึ่งที่ดีขึ้น มันดีขึ้น ก็ต้องเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงว่าเอ๊ะ จะทำยังไง สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมก็คือการลดการผลิตยาง ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ต้องไปดูแลว่าคนจนจะทำยังไง นายทุนจะทำยังไง นายทุนนี่มาได้เลย คืนคืนมาได้เลย ไม่คืนก็ผิดกฎหมาย คนจนเดี๋ยวหามาตรการก่อนนะครับ ว่าจะทำยังไง เราก็ต้องช่วยลดต้นทุน เรื่องยางนี่สำคัญ เหมือนข้าว เหมือนทุกอัน ถ้าต้นทุนมันสูงวันนี้ต้องไปดูต้นทุนการทำยาง นอกจากคนเป็นเจ้าของยางแล้ว  ต้องไปดูคนกรีดอีกต่างหาก  บาไร่ บางสวนก็ไม่ได้กรีดเอง ต้องไปจ้างคนมากรีด ไปดูซิว่า มีบริษัทมาหาคนมากรีดหรือเปล่า แล้วเงินทั้งหมดที่รัฐบาลทุ่มเทลงไปนี่ ถึงเกษตรกร ถึงเจ้าของสวนยางเท่าไร ถึงผู้กรีดเท่าไร ไม่ใช่วันนี้ให้เจ้าของสวนยางไปแล้ว มาบอกผู้ผลิตเดือดร้อน ผู้ผลิตก็จะเอาอีก อันนี้มันไม่ได้นะ ท่านต้องไปจัดระเบียบของท่านให้ได้ เมื่อวานพูดไปแล้วนะ กับนายกสมาคมสวนยาง เขารับปากว่าเขาจะไปดูแลให้ไปจดทะเบียนให้ แล้วก็ท่านประธานสมาคมเกษตรกรแห่งชาติก็มาช่วยดูด้วยนะ คุณประพัฒน์ นะ เขารับผิดชอบไปแล้วนะ ท่านต้องช่วยรัฐ อย่าให้รัฐไปตามอยู่คนเดียวไม่ได้ เอาข้อมูลมาเปรียบเทียบ มาเช็คกันถึงความถูกต้อง

เราจะทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งหมดมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างวงจร สร้างห่วงโซ่ทางคุณค่า Vale chain ขึ้นมาให้ได้นะครับ แล้วต่อจากนั้นก็ไปสร้างConectivity กับ SME อื่นๆ บริษัทใหญ่ส่งออก นำเข้า อะไรก็แล้วแต่ มันต้องเชื่อมโยงแบบนั้น รัฐก็จะต้องถอยมากำกับดูแล หากฎหมายให้ สร้างความเข้มแข็งให้ หาทุน หาอะไรให้ อันนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ อย่าไปทำกันแบบเดิมเลยนะครับ ขอขอบคุณนะครับ พี่น้องเกษตรกรทุกประเภท แล้วก็ผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการทุกคนที่ร่วมมือร่วมใจกันแบบนี้ ภาคการเกษตรของเราจะเข้มแข็งได้ในเร็ววัน แล้วก็ไม่ต้องไป อะไร ไปเสี่ยงต่อการที่ เศรษฐกิจโลกมันผันผวน ราคามันลด อะไรต่างๆ ถ้าเราขายกันเองได กินกันเองได้ ราคาไม่ตกหรอกครับ แล้วก็ไปต่างประเทศ ถ้าเราไปรวมกับต่างประเทศเขาได้ หลายๆประเทศที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าตกลงกันได้ ร่วมมือกันได้ทำให้เรามีอำนาจในการต่อรองนะครับเรืองอาหาร เรื่องยาง เรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งเราเป็นประเทศที่ผลิตได้เป็นระดับ 4 นะครับ นะ ตัวเลขอ่ะนะ ในโลกนะ ถ้าอาเซียนรู้สึกจะอันดับ 2 เพราะงั้นก็ไปดูด้วยตรงนี้

 

นายกฯยืนยันจำเป็นต้องผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก

การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารของโลกนั้นมีความจำเป็น ไปดูที่ผมบอกเมื้อกี้ ที่เมืองทอง น่าสนใจ ร้านค้ามากมาย สิ่งของหลายประเภท ทั้งสัตว์น้ำ ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร ทั้งหมด ประเทศไทยนี่ไม่ใช่ดินแดนที่ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต มีความหวังทั้งสิ้น แต่โอกาสที่มีอยู่นั้นเราได้ไขว่คว้ากันมาหรือยัง ท่านต้องเอาวิกฤติต่างๆ นี้เป็นโอกาส อย่ามาสร้างความขัดแย้งกับผม ผมกับรัฐบาลท่านต้องเอาสิ่งที่รัฐบาลพูดนี่ ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม สร้างความเข้มแข็งแต่ละส่วนก็ได้ เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่ามามองว่าทำอย่างนี้เดี๋ยวจะทุจริต ให้เงินไปอย่างนี้ไม่เอา เอาอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ไปไม่ได้ ก็มาตรการที่ออกไป เขาทำไป ถ้ามันทุจริตก็ว่ามา ถ้ามันทำไม่ได้ผลก็ยกเลิก มันก็มีอยู่แค่นี้นะ ถ้ารัฐไม่เข้าไปมีผลประโยชน์ด้วยมันก็จบแล้ว

การจำหน่ายสินค้าการเกษตรของไทยนั้นเราต้องนำมาแปรรูปให้ได้อย่างวันก่อนผมไปดูเรื่องอะไรนะ ผมสั่งเขาให้เอาข้าวไปทำขนมปัง ขนมปังข้าวนะ เขาก็ทำมาให้ดู ผมก็บอกว่า ผมก็ทานขนมปังตอนเช้าเหมือนกันนะทุกวันเลย ผมพูดเพื่อให้กำลังในเขาไง คนทำน่ะนะ ไอ้ทางนี้ก็มีคนมาติว่าไปขัดค่านิยมของผม ผมประกาศไปแล้วว่าต้องใช้ของไทย กลายเป็นผมไปกินอะไร ไปทานขนมปังฝรั่ง อะไรกันนี้ผมว่ามันไม่ถูกนะ อะไรที่ผมพูดบางครั้งเป็นการพูดเพื่อยกตัวอย่าง เพื่อแสดง เพื่อจัดข้อเปรียบเทียบนะ ไม่ว่าจะในไหนก็แล้วแต่ ในแถลงการณ์ในสภาบ้างหรือพูดในห้องประชุมบ้าง บางทีสื่อออกไปตีความผิดๆ หมด น่ะ มันเหมือนกับจับผิดผมทุกอย่างเลย ไม่ใช่ผมพูดต้องดูว่าผมพูดเจตนารมณ์ผมคืออะไร แล้วไปช่วยทำความเข้าใจกับผม ไม่ใช่เตือนผมมาว่าเอ้อ เรื่องนี้ไม่ดีนะ พูดไปแล้วนี่ต้องไปแก้เอาเองนะ ไอ้อย่างนี้แล้วมันจะเป็นสื่อไทยได้ยังไงเป็นสื่อต่างประเทศหรือเปล่า เป็นสื่อไทยต้องช่วยกันซิครับ ถ้ารู้ว่าจะมีปัญหา ท่านต้องไปแก้ให้ผม เพราะท่านก็รู้ว่าผมเจตนาอะไร แต่ท่านเตือนผม แล้วท่านไม่แก้ให้ผม แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น 

 

เชิญชวนประชาชนไปงานสินค้าอาหาร 2558 

งานสินค้าอาหาร 2558 นี่ ที่ผมเรียกนี่คือ ไทยเฟค นะ ที่เมืองทองนะครับ รีบไปนะ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดมาร่วมกับภาคเอกชน แล้วก็โดยหอการค้าไทยนะครับจัดเป็นครั้งที่ 11 นะเป็นการแสดงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ผู้ประกอบการในประเทศ ต่างประเทศครอบคลุมสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาหารทุกประเภทนะครับ อาหารฮาลาล บริการจัดเลี้ยง เทคโนโลยีอาหารการบริการต้อนรับ อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน มีหมด ธุรกิจค้าปลีก ธรกิจแฟรนไชน์ การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 112,000 ราย  ผมพูดวันนี้น่าจะเป็น 200,000 แล้วนะ  ไปช่วยกันดู ผมไปมาแล้วเดิน 2 ชั่วโมงกว่า ชิมทุกร้านเลยนะ อร่อยทุกร้าน น่าปลื้มใจนะครับ มีหลายๆ ประเทศ นานาประเทศ มานี่ผมดูแล้ว ไทยยังมีศักยภาพอยู่นะ ดูดี ดูสวยงาม ดูน่าซื้อน่ากิน แล้วส่งออกเป็นหลายหมื่นล้าน หลายแสนล้าน นั่นแหละคือธุรกิจส่งออกทางด้านอาหารที่มันมีมูลค่าสูงขึ้น อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อะไรเหล่านี้ แต่ทำอย่างไรเกษตกรเราที่อยู่ตรงนี้ เป็นคนปลูกจริงๆ นี่ ทำยังไง จะไปถ่วงโซ่เชื่อมต่อเข้าตรงนี้ได้

ถ้าบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ ก็แบ่งส่วนหนึ่งครับ ส่วนหนึ่งช่วยเกษตรกระรับซื้อไป ไปผลิต ส่วนที่ 2 คือท่านจะปลูกของท่านเอง อันที่ 3 จะจ้างใครปลูกก็เรื่องของท่าน ท่านทำไป แต่ให้เกิดสมดุลตรงนี้ ชาวไร่ชาวนาก็ไม่รังเกียจ นะ ก็ไม่มาโต้แย้ง ไม่มาขัดแย้ง ทุกอย่าง การค้าปลีก ค้าส่ง ต้องช่วยกันแบบนี้นะ ขอร้องภาคธุรกิจใหญ่ๆ นะครับ ผมพยายามที่จะอำนวยความสะดวกท่านอยู่แล้ว เพราะเป็นการสร้างธุรกิจแบบข้ามชาติ ข้ามชาติก็ คือข้ามไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ มีรายได้เข้าประเทศ ผมยินดี แต่ทำยังไงท่านจะช่วยเราในประเทศ ไม่งันในประเทศมันก็ล้มฟุบไปหมดนะ เพราะเขาสู้ต้นทุนกันไม่ไหวเลย ท่านแบ่งมาให้ผมหน่อย นะครับ ขอเลยนะครับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า เพราะงั้นเราคาดว่าในงานนี้น่าจะมีการสร้างมูลค่าการซื้อขายจากการเจรจาธุรกิจภายในงานนี้กว่า 8,000 ล้านบาท อาจจะมากว่านี้ด้วยซ้ำไป ถ้าไปดูกันแล้วล่ะก็นะ ไปช่วยอุดหนุนก็แล้วกัน ซื้อปลีกก็ได้ รัฐบาลก็หวังว่าการส่งเสริมครั้งนี้นี่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลกได้ ในปีนี้ ในโลกใบนี้ แล้วเราค่อยไปเอาสินค้าประเทศอื่นๆ ที่เขาทำได้ดีแล้วเราก็เป็นศูนย์กระจายสินค้าก็ได้ เป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตก็ได้ โรงงานอาจจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ประเทศไหนเขาได้ GSP เขาอาจจะตั้งที่โน่น เราก็รับสินค้าเขามา แล้วทำให้มันเกิดมูลค่าสูงขึ้น ส่งออก อะไรก็ไปว่ามานะ เราทำธุรกิจได้ทุกอย่าง เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยอยู่แล้ว วันนี้ผมถือว่าเป็นน่ะ ผมให้ทุกอย่างเดินหน้าไปหมด เราจะต้องวางรากฐานการพัฒนาให้ยั่งยืนทุกมิติ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง