นายกฯ มั่นใจสหรัฐฯ จะปรับไทยพ้น "เทียร์ 3" สถานการณ์การค้ามนุษย์

การเมือง
5 มิ.ย. 58
08:03
61
Logo Thai PBS
นายกฯ มั่นใจสหรัฐฯ จะปรับไทยพ้น "เทียร์ 3" สถานการณ์การค้ามนุษย์

วันนี้ (5 มิ.ย.2558) รัฐบาลจัดงานเนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่าความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังจะทำให้สหรัฐอเมริกาปรับอันดับประเทศไทยขึ้นจาก "เทียร์ 3" ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์นั้น ต้องทำควบคู่กันไปทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเห็นว่าการค้ามนุษย์นั้นเป็นปัญหาที่สะสมมานานและถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และทำให้ภาพพจน์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเสียหาย รัฐบาลจึงต้องดูแลและปราบปรามเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกำหนดให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล  มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง บูรณาการการแก้ปัญหาในทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลพร้อมผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
นายกรัฐมนตรียังแสดงความมั่นใจด้วยว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาของไทยจะทำให้ไทยได้รับการปรับอันดับขึ้นจาก "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาว่าด้วยกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU)

"อย่าไปคาดหวังให้คนอื่นเข้าใจเราในเวลาอันสั้น ขอให้พวกเรามั่นใจว่าพวกเราทำให้สำเร็จก่อนดีกว่า เพราะผลมันจะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองเรา แต่การที่เขา (สหรัฐฯ และอียู) จะปรับอันดับเราอย่างไร เป็นเรื่องที่เขาจะพิจารณา แต่ถ้าเราทำทุกระบบแล้วก็น่าจะได้รับการปรับระดับขึ้น แต่ก็บังคับไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันแล้วแต่เขา และหลายประเทศก็ได้รับการปรับอันดับมาแล้ว  แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราทำของเราให้ดีที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอของ สนช.ที่เสนอให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วง 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปนั้น โดยบอกว่าตนไม่ขัดข้องหากมีการทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนและเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน แต่ต้องกำหนดแนวทางในการทำความเข้าใจกับประชาชนและนานาชาติ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาของการสืบทอดอำนาจ โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของการทำประชามติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง