สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 16) : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

การเมือง
6 มิ.ย. 58
10:17
647
Logo Thai PBS
สารคดีพิเศษ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย (ตอน 16) : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช   2517

วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215 เป็นวันที่กษัตริย์จอห์นแห่งอังกฤษลงนามในเอกสารที่เป็นข้อตกลงระหว่างบรรดาขุนนางกับพระองค์ เอกสารฉบับนี้มีชื่อว่า "แมกนา คาร์ตา" ซึ่งแปลว่ามหากฎบัตร หรือ The Great Charter ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ไทยพีบีเอส โดยการสนับสนุนของบีบีซีภาคบริการโลก แผนกภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวของแมกนา คาร์ตา และรัฐธรรมนูญไทยในอดีต ผ่านสารคดีขนาดสั้นรวม 25 ตอน ตอนที่ 16 เสนอเรื่อง รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 10 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

หลังเหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" นายสัญญา ธรรมศักด์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีขั้นตอนการจัดทำที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากที่กฎหมายระบุให้มีการตั้ง "สมัชชาแห่งชาติ" ขึ้น ก็มีผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่นักการเมือง แพทย์ สื่อมวลชน หรือนายกสมาคมสามล้อเครื่อง เข้ามามีส่วนร่วมในสมัชชานี้

การประชุมครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากถึง 2,347 คน จึงได้ใช้ "สนามม้านางเลิ้ง" เป็นที่ประชุมแทนและนี่คือที่มาของคำว่า "สภาสนามม้า"

หลังจากคัดเลือกผู้แทนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 299 คนแล้ว จึงเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดเอารัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 พ.ศ.2492 มาเป็นหลักในการร่าง

นอกจากการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในยุคนี้ยังเรียกได้ว่าเป็นยุค "ฟ้าสีทองผ่องอำไพ" เพราะกลุ่มนักศึกษาได้เดินทางออกสู่ชนบทเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่ชาวบ้านอย่างแพร่หลายด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้การปกครองใช้รูปแบบ 2 สภา คือ ส.ส. และ ส.ว. สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบผสม โดยคำนวณจากจำนวนประชากรในพื้นที่ ยิ่งคนมากยิ่งได้ผู้แทนมากขึ้นตามสัดส่วน โดยมีผู้แทนมากที่สุดไม่เกินเขตละ 3 คน และพิจารณาผู้แทนตามพื้นที่จังหวัด ส.ส.มีวาระ 4 ปี

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา 100 คน มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ อยู่ในตำแหนงคราวละ 6 ปี และยังกำหนดให้สมาชิกครึ่งหนึ่งต้องพ้นตำแหน่งเมื่อผ่านไปทุกๆ 3 ปี

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีเนื้อหาน่าสนใจหลายประเด็น เช่น
• ห้ามนิรโทษกรรมผู้ทำผิดเกี่ยวกับการล้มล้างระบอบกษัตริย์และล้มล้างรัฐธรรมนูญ
• รัฐสภาสามารถเห็นชอบให้พระราชธิดาขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ในกรณีที่ไม่มีพระราชโอรส
• แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง (ส.ส. และ ส.ว.) ต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
• แยกนักการเมือง ออกจากกลุ่มธุรกิจ
• ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยห้ามนักกาเมืองระดับชาติมีตำแหน่งในระดับท้องถิ่น
• สมาชิกรัฐสภา รวมทั้งนายกฯ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อประธานรัฐสภา

แต่ด้วยเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง โดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 9
และนั่นคือจุดสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517รวมระยะเวลาการประกาศใช้ 2 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง