"วิษณุ" รับขยายเวลายกร่างฯ-ปฏิเสธปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

การเมือง
6 มิ.ย. 58
15:18
89
Logo Thai PBS
"วิษณุ" รับขยายเวลายกร่างฯ-ปฏิเสธปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

1 ใน 5 แนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือการย้ำถึงหลักการว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ยืดยาว ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม เผย ครม.เห็นชอบขยายเวลาให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีขยายเวลาให้รัฐบาล คสช. 2 ปี เพื่อการปฏิรูป..ก่อนเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังจากเข้าชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ..ร่างแรกต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะรัฐมนตรีเห็นควรขยายระยะเวลาให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาคำขอแก้ไข จากเดิม 60 วัน ตามข้อบัญญัติมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว แต่จำนวนระยะเวลาและเงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้
 
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นยืนยันว่า ครม.คำนึงถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสม พ้องไปกับหลักการที่จะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นการขยายเวลาของรัฐบาล คสช.ออกไปอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูป..ก่อนการเลือกตั้ง
 
สำหรับการชี้แจงเหตุผลในคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.มีข้อเสนอ รวม 117 ประเด็น พร้อมกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีอีก 5 แนวทาง อาทิ รัฐธรรมนูญต้องสะท้อนหลักคิดและให้ความสำคัญกับประชาชนและประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมไทย แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักสากล ที่สำคัญต้องแก้วิกฤตของสังคม ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงรัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนข้อบัญญัติให้ยืดยาว
 
กรณีขอแก้ไข คือเสนอให้ตัดมาตราที่เปิดให้นายกรัฐมนตรียื่นญัตติขอความไว้วางใจจากสภาได้, ตัดมาตราที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี หรือ ส.ว.เสนอร่างกฎหมาย, ตัดการเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์, ตัดเรื่องกลุ่มการเมืองลงสมัครเลือกตั้งได้, และตัด กจต.ออกไป
 
ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ควรแยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และเสนอให้ควบรวมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ในองค์กรเดียวกัน และให้เพิ่มสัดส่วนในโครงสร้างใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งคนปัจจุบันและอดีตเข้ามารวมอยู่ด้วย หากแต่ทั้งหมดนั้นให้โยกไปไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง