ครม.แต่งตั้ง "ธัญญา เนติธรรมกุล" เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ

การเมือง
9 ก.พ. 59
18:41
912
Logo Thai PBS
ครม.แต่งตั้ง "ธัญญา เนติธรรมกุล" เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งนายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายทศพร นุชอนงค์ จากรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

วันนี้ (9 ก.พ.2559) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญบริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระดับอธิบดี 2 คน คือนายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายทศพร นุชอนงค์ จากรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นับตั้งแต่วันโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 1,250 ล้านบาทโครงการที่ต่อเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2558 โครงการสนับสนุนสินเชื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลังปี 2558-2559 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรอัตรา FBR+1 เกษตรกรสามารถสมัครได้ระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ค.นี้ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.พ.2559 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2560 เนื่องจากปริมาณความต้องการมันสำปะหลังในตลาดมากกว่ากำลังการผลิตของเกษตรกร จึงเป็นมาตรการส่งเสริมการผลิตให้แก่เกษตกร

ครม.เห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอัญมณี และเป็นแรงจูงใจให้มีฐานผลิตในประเทศไทยสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสาระสำคัญของกฎหมายกำหนดถึงผู้ประกอบการที่นำเข้าอัญมณีที่ยังไม่เจียรไนจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเห็นชอบการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม, ร่างพระราชกฤษฎีกาภาษีธุรกิจเฉพาะ และร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากร

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติขยายระยะเวลาสินเชื่อดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอีจากเดิมที่จบไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2558 ขยายเป็นจบโครงการ 30 มิ.ย.นี้ เนื่องจากยังคงมีวงเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อีกจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบการปรับกรอบการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง เนื่องจากความล่าช้าในการดำเนินการตามสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ทำให้โครงการดำเนินงานเสร็จในปี 2562 จากเดิมคือปี 2561 ทำให้ต้อเพิ่มวงเงินการทำสัญญาระยะที่ 3 เนื่องจากห้วงเวลาที่เปลี่ยนส่งผลต่อราคาวัสดุ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 25,656 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 32,400 ล้านบาท หรือเพิ่มจากเดิม 6,744 ล้านบาท

โดย ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท ปล่อยให้เกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นนิติบุคคลกว่า 5,600 แห่ง หรือ 600,000 ครัวเรือน เพื่อกู้ไปจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่จะส่งให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งอนุมัติงบการประชุมติดตามการดำเนินโครงการอีก 10 ล้านบาท โดยจะกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมกู้อีกครั้ง และวางกรอบการใช้คืนในระยะเวลา 2 ปี ตั้งเป้าให้ได้เงินคืนภายหลังร้อยละ 98

ข่าวที่เกี่ยวข้อง